ม.เกษตร โชว์ผลงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล
แบบบูรณาการในพื้นที่โครงการ U2T ต.หัวป่า อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ สุขสมาน รองคณบดีฝ่ายบริหารยุทธศาสตร์และพัฒนากายภาพ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธาน cluster 4 ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้การต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในฐานะประธานกรรมการพร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการถอดบทเรียนโครงการ U2T ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในพื้นที่ลพบุรี – สิงห์บุรี จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่โครงการ U2T ต.หัวป่า อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ณ ศาลาหมู่ 4 ต.หัวป่า อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
การดำเนินงานโครงการ U2T ต.หัวป่า อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เริ่มต้นเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับนโยบายจากกระทรวง อว. โดยการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม คณะมนุษยศาสตร์ สำนักบริการวิชาการ และหน่วยงานในพื้นที่ชุมชนตำบลหัวป่า เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรตำบล พัฒนาชุมชน พัฒนาที่ดิน กำนันตำบลหัวป่า ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน จากการศึกษาศักยภาพของชุมชนเป็นที่มาของการส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของพื้นที่ โดยมีกิจกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ ฐานเรียนรู้ข้าวปลอดภัย ศูนย์การเรียนรู้เกษตรปลอดภัย 5 ฐาน คือ 1. ฐานเพาะกล้าและแปลงสาธิต 2. ฐานดินดีพร้อมปลูก 3. ฐานปุ๋ยหมักชีวภาพ 4. ฐานน้ำหมักชีวภาพ 5. ฐานการผลิตน้ำส้มควันไม้ โครงการถนนแม่ครัวหัวป่า โครงการขยะได้ไปต่อ โครงการส่งเสริมการเพาะเห็ดและผลิตก้อนเชื้อเห็ด การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ชุมชนซึ่งตราสัญลักษณ์นี้ได้นำมาเป็นสัญลักษณ์รับรองผลิตภัณฑ์ชุมชนหัวป่า รองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
ส่วนผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนที่แนะนำนักท่องเที่ยวซื้อหาเป็นของฝาก ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวหลาม แคปหมู น้ำพริก ขนมตาล นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาร่วมกับชุมชน ได้แก่แยมมะเขือเทศ มะเขือเทศอบแห้ง น้ำจิ้มสุกี้ เห็ดทอดปรุงรส น้ำพริกเห็ด แหนมเห็ด เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจท่องเที่ยวในชุมชนหัวป่า ซึ่งเป็นชุมชนที่มาของคำว่า “แม่ครัวหัวป่า”อย่าลืมลิ้มลองรสชาติของอาหารท้องถิ่นตำรับโบราณ ที่ผลิตจากวัตถุดิบต้นทางที่ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมซึ่งชาวชุมชนมีความภาคภูมิใจ
ติดตามเส้นทางท่องเที่ยว สถานที่สำคัญ กิจกรรมชุมชนได้ทาง Facebook หัวป่าน่าเที่ยว และช่อง YouTube U2T Huapa Channel หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ที่ผู้จัดการตำบล U2T สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร 0 2942 8822 ต่อ 404
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์