เปรม ณ สงขลา รองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ และ พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ
เข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ 22 มีนาคม 2565 ผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัด ด้านพืชสวน ด้านทรัพยากรเกษตรและการจัดการการผลิต และ ด้านสาธารณสุขศาสตร์ เข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ผู้แทนพระองค์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
นายเปรม ณ สงขลา นิสิตเก่าคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร ผู้นำเสนอบทความ ข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันการณ์ และนวัตกรรมการเกษตร โดยเฉพาะด้านพืชสวนทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2519 จนถึงปัจจุบัน เป็นเจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอม 60 ไร่ แหล่งเรียนรู้ และเป็นแปลงสำหรับฝึกงานของนิสิต นักศึกษา แปลงงานวิจัยเกษตรแม่นยำของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และเสมือนเป็นห้องปฏิบัติการภาคสนามของวารสารเคหการเกษตรผลงานอันโดดเด่น คือ ผลงานทางวิชาการในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น คู่มือการทำสวนส้มอย่างมืออาชีพ” “การสร้างสวนทุเรียนมือใหม่สู่มืออาชีพ” หนังสือกึ่งตำราที่รวมข้อมูลการผลิตทุเรียนที่ให้ความรู้แก่ชาวสวนทุเรียนทั้งระยะเริ่มต้นและมืออาชีพอย่างครบถ้วน เป็นคณะทำงานวิจัย “ความสามารถในการแข่งขันไม้ผลไทย: กรณีลำไย” และ “มะพร้าวน้ำหอมแม่นยำ” ร่วมเขียนและสรุปงานวิจัย “มะละกอไทย สถานภาพด้านสายพันธุ์ ระบบการผลิตและการตลาด” เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังได้อุทิศตนเพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น เลขาธิการสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย กรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยกำลังจัดทำโครงการ “สถาบันพัฒนาเกษตรไทย” ภายใต้มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายศิษย์เก่า นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีประสบการณ์ และทักษะด้านการเกษตร เป็นผู้ที่ผลิตสื่อสร้างสรรค์ซึ่งได้ช่วยเสริมสร้างรากฐานความรู้ และชี้นำสิ่งที่ถูก ที่ควรด้านการเกษตร โดยเฉพาะงานด้านพืชสวนให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ปราชญ์แห่งการจัดการทรัพยากรเกษตร ดินเพื่อชีวิต น้ำเพื่อชีวิต ต้นไม้เพื่อชีวิต วิชาการเพื่อชีวิต ชีวิตเพื่อชีวิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนที่13 และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ 28 ผู้วางรากฐานการพัฒนาและบริหารงานในทุกๆทรัพยากรของมหาวิทยาลัย รวมทั้งทรัพยากรการเกษตร ด้วยหลักการ 6 U คือ GU (Green University), DU (Digital University), RU (Research University), WU (World Class University), SRU (Social Responsibility University) และ HU (Happiness University) ผลงานอันโดดเด่น คือ การจัดตั้งคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร “โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)” ให้ความรู้การบริหารจัดการดิน และน้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ดี การจัดการกระบวนการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การสร้างมูลค่าเพิ่ม การเก็บรักษา การขนส่ง และการตลาด โดยได้นำไปต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม ในโครงการ “ดาวล้อมเดือน มก.ฉกส.” นอกจากนี้ยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในด้านทรัพยากรเกษตรและการจัดการการผลิตในระดับนานาชาติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (มหาวิทยาลัยจำปาสัก) และราชอาณาจักรกัมพูชา (โครงการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ)
พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพอากาศ และ เลขาธิการแพทยสภา สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และวิทยาลัยอายุรแพทย์ สหรัฐอเมริกา ผู้มีคุณูปการต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยจนเป็นที่ประจักษ์ ผลงานอันโดดเด่น คือ เป็นผู้ก่อตั้งโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ของแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ความเชี่ยวชาญแก่ผู้บริหารสายแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสา-แพทยสภา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนและกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยหมุนเวียนออกหน่วยไปจังหวัดต่าง ๆ เพื่อกระจายโอกาสการเข้ารับการรักษาระดับตติยภูมิให้กับประชาชนในต่างจังหวัด เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิ ที่ดำเนินโครงการอาสาต่าง ๆ เพื่อสังคมและประชาชน เป็นผู้ริเริ่มจัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายปีละ 1 จังหวัด เป็นผู้ดำเนินโครงการแพทย์อาสาช่วยเหลือภัยพิบัติทั้งในและต่างประเทศหลายโครงการ อาทิ มหาวาตภัยภาคกลางและภาคใต้ ธรณีพิบัติประเทศเนปาล แผ่นดินไหวประเทศญี่ปุ่น และผู้ประสานงานให้เกิดหน่วยแพทย์ดูแลผู้แสวงบุญที่ประเทศอินเดีย ที่สถานพยาบาลไทย กุสินาราเฉลิมราชย์ ต่อมาขยายไปที่วัดไทยพุทธคยาโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และยังเป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งโครงการอาสาร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 ช่วยเหลือโรงพยาบาลต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์