18 ก.พ.นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานฉลองความร่วมมือกับองค์การนาซา
พร้อมแถลงข่าวความร่วมมือวิจัยด้าน Liquid Crystal ภาคพื้นดินและในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนอวกาศ
ณ สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS)
เป็นที่น่ายินดีและภาคภูมิใจสำหรับคนไทยและประเทศไทย ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา , NASA ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมนักวิจัยไทย และได้มีการลงนามความบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) ในการศึกษาผลึกเหลว หรือ Liquid Crystal ในอวกาศ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย MOU นี้ เป็น MOU แรกที่ NASA ลงนามร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมนักวิจัย ได้แก่ ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย โดยผู้ร่วมวิจัยในทีมประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิชาติ พัฒนโภครัตนา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล จาก GISTDA
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จะจัดงานฉลองบันทึกความเข้าใจ (MOU) Kasetsart-NASA Memorandum of Understanding Celebration Ceremony โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ Dr.Craig Kundrot Director of Biological and Physical Sciences Division, NASA ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ องค์การมหาชน Dr.Kirt Costello Chief Scientist of the International Space Station (ISS), NASA Mr. James Wayman Acting Deputy Chief of Mission, The United States Embassy in Bangkok Dr.Francis Chiaramonte Program Scientist for Physical Sciences at NASA รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม อาจารย์ผู้วิจัยหลักในโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยในอวกาศ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทุกท่านจะมาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นนำไปสู่เป้าหมายของการทำงานวิจัยด้านอวกาศ และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมการทำงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก จึงได้จัดจัดงานแถลงข่าวโครงการความร่วมมือวิจัย Liquid Crystals ภาคพื้นดินและ ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนอากาศ ณ สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) ในเวลา 11.00 น. ซึ่งนับว่าเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของคนไทย ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานฉลองบันทึกความเข้าใจ (MOU) และการแถลงข่าวครั้งนี้ ได้ทาง Nontri Live https://live.ku.ac.th/
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์