ระยอง เผยคราบน้ำมันจ่อประชิดฝั่งห่าง 5 กม. บริษัท ต้นตอขาดความระมัดระวัง แจ้งความดำเนินคดี 4 ข้อหา

ระยอง เผยคราบน้ำมันจ่อประชิดฝั่งห่าง 5 กม. บริษัท

ต้นตอขาดความระมัดระวัง แจ้งความดำเนินคดี 4 ข้อหา

 


ผวจ.ระยอง เผยคราบน้ำมันจ่อประชิดฝั่งห่าง 5 กม. ยันเสียใจหลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเล รอบ 2 พร้อมตำหนิทางบริษัท ต้นตอกระทำการขาดความระมัดระวังและความรอบคอบ ขณะที่ กรมเจ้าท่า แจ้งความดำเนินคดี อีก 4 ข้อหา
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง ได้เดินทางมาตรวจและติดตาม การรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีคราบน้ำมันดิบรั่วไหล บ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จก. หรือ SPRC ที่หมู่บ้านสบาย สบาย รีสอร์ท หาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง ได้เปิดเผยถึง กรณีเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลกลางทะเล รอบที่ 2 จำนวน 5,000 ลิตร ซึ่งเป็นจุดเดิมที่มีการรั่วไหลเมื่อครั้งที่แล้วว่า จุดที่พบคราบน้ำมันรั่วไหลอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กม. ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งนี้ ตนรู้สึกเสียใจ ซึ่งทุกฝ่ายก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายกันไป ทั้งนี้ บริษัท น่าจะทำได้ดีกว่านี้ น่าจะมีความระมัดระวังในการวางแผนเข้าดำเนินการตรวจสอบให้รอบคอบ ซึ่งการขอโทษไม่ได้ช่วยอะไร คิดว่าประชาชนคงรับไม่ได้ เบื้องต้นได้ตำหนิทาง บริษัทฯ ไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแน่นอน โดยเฉพาะความรู้สึกของประชาชนและนักท่องเที่ยว ส่วนการปลดธงแดง และการลงเล่นน้ำทะเล ต้องขอประเมินสถานการณ์คราบน้ำมันในทะเลอีกรอบ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ในฐานะผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับ ร.ต.ท.ไม้ฟ้า ปักเขตานัง ร้อยเวร สภ.มาบตาพุด ดำเนินคดี 4 ข้อหา โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานความผิด คือ 1.ฐานความผิดตามาตรา 119 ทวิทวิแห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 กรณีก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นคดีที่ต่างกรรมต่างวาระ กับการกระทำผิด ซึ่งได้ร้องทุกข์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2565 2.ฐานความผิดมาตรา 297 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และแก้ไขเพิ่มเติม ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่า ที่สั่งให้ระงับการใช้งานทุ่นเทียบเรือจนกว่าจะซ่อมแซมแก้ไขให้แล้วเสร็จ รวมทั้งจะต้องใช้ความระมัดระวัง โดยกำหนดขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลในขั้นตอนการแก้ไขหรือซ่อมแซม โดยจะต้องมีหลักฐานการตรวจสอบที่สามารถยืนยันว่า ไม่มีน้ำมันค้างท่อส่งสินค้า และแจ้งให้สำนักงานเจ้าท่าฯ ทราบ ก่อนดำเนินการทุกครั้ง พร้อมทั้งจัดทำมาตรการ ในการป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล แต่ บริษัทฯ กลับฝ่าฝืนคำสั่ง โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่อีกครั้ง รวมทั้งไม่ตรวจสอบให้แนะชัดว่ามีน้ำมันค้างอยู่ในท่อ ก่อนการดำเนินการ จนเป็นเหตุให้น้ำมันรั่วลงทะเล
3.ในฐานความผิด ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐาน ที่ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา และ 4.ฐานความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายควบคุมมลพิษ เป็นต้น เพื่อให้พนักงานสอบสวนพิจารณา ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย จนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี