เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งแรกของประเทศไทยแก้ภัยแล้งอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ห้องประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดศรีสะเกษ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดศรีสะเกษ และคณะทำงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมในพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ครบชุดมาจัดทำเป็นระบบเชื่อมโยงกับส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อรวบรวมข้อมูลน้ำแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของจังหวัดศรีสะเกษ จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบสามารถนำเอาข้อมูลขึ้นแสดงบนจอภาพขนาดใหญ่ เพื่อให้คณะทำงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำจังหวัดศรีสะเกษ สามารถที่จะใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาสั่งการเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาเกี่ยวน้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ ได้อย่างรวดเร็วมาก
นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งนี้ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำจังหวัดศรีสะเกษทั้งระบบน้ำ ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ผวจ.ศรีสะเกษได้มอบหมายให้ นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่โดยใช้โทรศัพท์ ใช้แบบฟอร์มด้วยมือ เป็นระบบทำให้เกิดการร่วมคิดร่วมสร้างด้วยกันขึ้นมาว่าจะต้องแก้ปัญหายังไง ซึ่งการเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งนี้เป็นการต่อยอดขึ้นในปี 2565 ในวาระการขับเคลื่อนน้ำให้มีระบบและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลระบบสาระสนเทศของชลประทานจังหวัดศรีสะเกษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งในยามปกติและในยามวิกฤตเรื่องน้ำที่จะต้องแก้ไขภัยแล้ง จากข้อมูลของเว็บไซต์ฐานข้อมูลในระบบทั้งหมด ผ่านระบบที่วางไว้รวมทั้ง การจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะได้งบประมาณมาพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องน้ำ
นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์น้ำแห่งนี้เป็นศูนย์ที่มอนิเตอร์เฝ้าระวัง ฝนตกน้ำท่วมพายุจะเข้าตรงไหน การคาดการณ์ต่างๆจะอยู่ในการมอมิเตอร์ของศูนย์ จังหวัดศรีสะเกษสามารถที่จะนั่งประชุมและบัญชาการผ่านห้องนี้ ดูสภาพอากาศเมื่อมีฝนตกในพื้นที่ปริมาณน้ำในเขื่อนในอ่างเก็บน้ำต่างๆซึ่งจะเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์น้ำหน้าเขื่อนทั้งเขื่อนหัวนาเขื่อนราษีไศล และอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 อ่าง ที่น้ำล้นสปิลเวย์ ก็จะสามารถดูได้สดทันที ข้อมูลเหล่านี้จะผ่านทางศูนย์บริหารจัดการน้ำและจะบรรจุลงในเว็บไซต์ของศูนย์บริหารจัดการน้ำทันที ซึ่งชาวศรีสะเกษจะสามารถเข้าดูเพื่อสร้างความเข้าใจไม่ให้ตื่นตระหนกได้ นี่คือประเด็นสำคัญ ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำนี้มีความสำคัญในการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษ ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำก็จะมีน้ำได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจงหวัดศรีสะเกษ ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ