สภาเกษตรกรแห่งชาติส่งมาตรการ 3 ระยะ 11 ข้อ
เพื่อแก้ปัญหาการระบาดโรคในสุกรแก่รัฐบาล
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาโรคระบาดในสุกร พร้อมและยินดีสนับสนุนให้ความร่วมมือและให้กำลังใจกับส่วนราชการและภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดทำหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายโครงการฟื้นฟูเยียวยาและปรับโครงสร้าง การเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน โดยเสนอให้แก่รัฐบาลเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ด้วย
- มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ได้แก่
1.เร่งจ่ายเงินเยียวยาเพื่อชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดกับเกษตรกรรายกลาง รายเล็ก รายย่อย ที่ทำลายซากสุกรไปแล้ว โดยขอให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้ทำลายซากไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีเกษตรกรส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับค่าชดเชยทั้งที่เวลาได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว กับขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการชดใช้ราคาสุกรเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) เพื่อรอการดำเนินการตามแผนลดความเสี่ยงต่อโรคระบาดสำคัญในสุกร
2.รัฐบาลควรจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลาง ดำเนินการปรับปรุงโรงเรือน สถานที่ และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อเป็นระบบ GFM ของกรมปศุสัตว์ ด้านผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร โรงงานแปรรูป เพื่อดำเนินการปรับปรุงโรงเรือนและกระบวนการผลิต เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP , HACCP หรือระบบของกรมปศุสัตว์
3.ให้นำระบบ Zoning และ Compartment มาใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์
4.ขึ้นทะเบียนคนกลางรับซื้อสุกร (broker) ทุกรายทุกขนาด และออกระเบียบให้มีบทบาทและมีความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่การผลิตสุกร ในฐานะเครือข่ายหนึ่งในการป้องกันโรคระบาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต
5.เร่งทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบของกฏหมาย ประกาศกระทรวงต่างๆ และระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาวงการสุกร โดยเฉพาะรายกลาง – รายย่อย เพื่อแก้ไขและปรับปรุงโดยด่วน
6.สนับสนุนให้จัดตั้งกองทุนสุกร ให้เป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือสนับสนุนงบประมาณ จากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับผู้เลี้ยงสุกร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
7.นำระบบเศรษฐกิจใหม่ BCG Model มาใช้ในวงการปศุสัตว์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ให้เร่งจัดทำแผนโดยละเอียดเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป ขณะที่
- มาตรการระยะปานกลาง ภายใน 3 ปี ได้แก่
1.เร่งรัดให้กรมปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรค ที่ได้มาตรฐาน ทั้งกำลังคนและเครื่องมือ หรือสร้างเครือข่ายการชันสูตรโรคกับมหาวิทยาลัยต่างๆในภูมิภาค เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายและควบคุมโรค
2.สนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาการเลี้ยงสุกรเข้าสู่ ระบบ Precision agriculture ที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละระดับรวมถึงการวิจัยวัคซีน และชีวภัณฑ์ต่างๆเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์ และปิดท้ายกับ
- มาตรการระยะยาว ภายใน 5 ปี ได้แก่
1.กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือควบคุมโรคได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
2.สนับสนุนให้ภาคเอกชน หรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียน โดยอาจอยู่ในรูปแบบของ 4 P คือ Public , Private , Professional , People Partnership เป็นต้น
“ เพื่อให้ทุกๆปัญหาในภาคเกษตรกรรมผ่านพ้น สภาเกษตรกรแห่งชาติยินดีสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ประเทศไทย คนไทยบอบช้ำมามากแล้ว ขอให้ร่วมแรงรวมใจฮึดสู้กันอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยความหวัง ห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องครับ ” นายประพัฒน์ กล่าวปิดท้าย
กลุ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กองสื่อสารและสารสนเทศ สภาเกษตรกรแห่งชาติ