รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาคนักวิจัยสตรี จากม.เกษตร ฯ ได้รับทุนวิจัย “ ลอรีอัลประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ” ประจำปี 2564
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ประกาศมอบทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ประจำปี 2564 ให้แก่ 5 นักวิจัยสตรีไทย ผู้สร้างประโยชน์ด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในจำนวน 5 คนที่ได้รับทุนในโครงการดังกล่าว ด้วยงานวิจัย หัวข้อ “การพัฒนาแพลทฟอร์มทางชีววิทยาระบบและไมโครไบโอมเพื่อการทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย”
รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค ได้กล่าวถึงแนวคิดของงานวิจัยว่า เป็นการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของคน โดยใช้เครื่องมือทางชีววิทยาระบบ และ ชีวสารสนเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ การเข้าใจความซับซ้อนของหน้าที่และการทำงานของไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของคน โดยนำเสนอออกมาในรูปแบบของเครือข่าย หรือแบบ จำลองทางคณิตศาสตร์ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย และนำไปสู่การออกแบบวิธีการป้องกันและรักษาโรคได้ ดังนั้น แพลทฟอร์มทางชีววิทยาระบบและ ไมโครไบโอม หรือที่เรียกว่า SYSMIOME จึงถูกพัฒนาขึ้นในงานวิจัยนี้ เพื่อการทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย อีกทั้งงานวิจัยนี้ ยังสามารถประยุกต์แพลทฟอร์มนำไปต่อยอดในด้านนวัตกรรมปัญญา ประดิษฐ์ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในประเทศไทยได้ต่อไป
สำหรับแรงบันดาลใจในการทำวิจัยและปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความสำเร็จ นั้น รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค กล่าวว่า สิ่งแรกก็คือจะต้องเริ่มต้นทำงานวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานที่ใจรักเสมอ เนื่องจากทำงานเป็นอาจารย์ และเป็นนักวิจัยด้วย ดังนั้น สิ่งที่มุ่งหวัง ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้งานวิจัยทุกชิ้นงานที่ได้รับมา ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ภายใต้โจทย์วิจัยที่ท้าทาย ในขณะเดียวกัน การเป็นอาจารย์ ก็มุ่งหวังที่จะพัฒนานิสิตให้มีความรู้และความเข้าใจในงานวิจัยใหม่ๆ ที่ท้าทาย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ และเมื่อนิสิตจบเป็นบัณฑิตออกไปแล้ว ก็จะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป
ในฐานะ‘ผู้หญิง’ ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ผู้หญิงทุกคนสามารถแสดงศักยภาพและก้าวเข้าสู่นักวิทยาศาสตร์มืออาชีพได้ นอกจากนี้กำลังใจจากผู้ร่วมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ในการสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีไทยได้สร้างผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ดี สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ได้เช่นกัน
“ จากความสำเร็จในครั้งนี้ ขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมวิจัยไมโครไบโอมและชีววิทยาระบบ ที่ร่วมกันสานฝันงานวิจัยอย่างสร้างสรรค์ให้เป็นจริง จนผลงานนี้สำเร็จออกมาเป็นที่ประจักษ์ เป็นองค์ความรู้ใหม่ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก รางวัลนี้จะเป็นกำลังใจสำคัญให้กับทีมวิจัย เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ให้รู้สึกรัก และศรัทธาในงานวิจัย ที่ตนเองทำแล้วมีคนอื่นมองเห็น เป็นแรงผลักดันและยกระดับให้งานวิทยาศาสตร์ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป ” รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณวิภา วงศ์แสงนาค กล่าวทิ้งทาย
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์