สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
พระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนม ประจำปีการศึกษา 2563
วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 09.52 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอาคารศรีโคตรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนครพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนครพนม ประจำปีการศึกษา 2563 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม และพสกนิกรชาวจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียงเฝ้า ฯ รับเสด็จ
ในปีนี้ มหาวิทยาลัยนครพนม มีผู้สำเร็จการศึกษาและได้รับอนุมัติปริญญาในระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย ระดับปริญญาโท และปริญญาตรี รวมจำนวน 1,300 คน จากคณะเกษตรและเทคโนโลยี คณะครุศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยการบินนานาชาติ วิทยาลัยธาตุพนม วิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนีนครพนม และวิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนครพนม มีคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก และโรงเรียนสาธิต รวมหน่วยงาน 17 แห่ง จัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา บัณฑิตศึกษา รวมจำนวน 97 หลักสูตร จำแนกเป็น หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1 หลักสูตร หลักสูตรอาชีวศึกษา 36 หลักสูตร หลักสูตรปริญญาตรี 46 หลักสูตร หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 หลักสูตร หลักสูตรปริญญาโท ๙ หลักสูตร และหลักสูตรปริญญาเอก 3 หลักสูตร มีนักศึกษารวมจำนวน 8,614คน ดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จำแนกตามพันธกิจหลัก ได้แก่ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้รับโอกาสอันดีจากเครือข่าย โดยมีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างประเทศหลายแห่งเพื่อสนับสนุนทางวิชาการ การวิจัย การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และการบริการวิชาการแก่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนกลาง
ด้านการผลิตบัณฑิต ดำเนินการผลิตบัณฑิตเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ไปสู่การเป็น มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรม (University of Societal Creativity) โดยมหาวิทยาลัยกำกับคุณภาพบัณฑิตทางวิชาการ ทุนการศึกษาสวัสดิการ เพื่อการเป็นผู้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม
ด้านการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยตั้งเป้าหมายและดำเนินยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อให้ผลงานวิจัยได้ใช้ประโยชน์ต่อยอดในการพัฒนาองค์ความรู้ในวงกว้าง และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ งบประมาณวิจัยมีทั้งจากหน่วยงานภายนอก และจากกองทุนวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งได้สนับสนุนงานวิจัยเชิงพื้นที่และการพัฒนากลุ่มวิจัยเฉพาะทาง จำนวน 8 กลุ่ม
นอกจากนี้การดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T) มหาวิทยาลัยนครพนม รับผิดชอบ จำนวน 6 ตำบล ในจังหวัดนครพนม ได้แก่ ตำบลเรณูนคร ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร ตำบลท่าค้อ ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม และตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า ผลการดำเนินการช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ 6 ตำบล ได้รับการพัฒนาศักยภาพตนเอง สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องและขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น 106 ตำบล
ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญด้านวิชาการและการให้ความร่วมมือในการผลักดันพระธาตุพนมสู่การเป็นเมืองมรดกโลก ตลอดจนกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ด้วยตระหนักในบทบาทของการเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้ ทรัพยากรบุคคลที่เอื้อต่อการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม
โดยในโอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราโชวาท แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนครพนม ความสำคัญตอนหนึ่งว่า บัณฑิตเมื่อจบการศึกษา ชีวิตเปลี่ยนแปลงจากวัยเรียนเป็นวัยทำงาน ในการประกอบอาชีพการงานและการดำเนินชีวิต นอกจากความเก่งกาจสามารถแล้ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยเกื้อกูลให้บัณฑิตประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน และการดำเนินชีวิตมั่นคงปลอดภัย ได้แก่ สติ คือความระลึกรู้ตัว ว่าตนเองกำลังทำอะไร ไม่เลอะเลือนเผลอไผล เมื่อมีสติปัญญาที่จะพิจารณาว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นคุณหรือโทษ ก็จะเกิดตามมา ที่เรียกว่า สัมปชัญญะ มักกล่าวร่วมกันว่า สติสัมปชัญญะ ผู้มีสติย่อมเป็นผู้มีความยั้งคิด พิจารณาสิ่งที่จะทำ คำที่จะพูดว่าถูกต้องสมควรหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือก่อให้เกิดผลเสียแก่ตน หรือเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ทั้งจะช่วยให้เป็นผู้ไม่ประมาท สติจึงเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้คนเราคิดและทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์ ขอให้บัณฑิตทั้งหลายสังวรระวังในเรื่องที่กล่าวมานี้ และควรฝึกตนให้เป็นผู้มีสติอยู่เสมอ ก็จะส่งผลเป็นความสุขความสำเร็จ เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตน ตลอดจนผู้อื่นที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน
เทพข่าวร้อน รายงาน