ชป.เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมฯ แก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งด้านเหนือ-ท้าย อ่างฯ ลำตะคอง
กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา หวังแก้ไขและบรรเทาปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ ตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8 และผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับฟังแนวทางการศึกษาพร้อมเสนอความคิดเห็นต่อโครงการฯ โดยมี นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ณ ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นายเฉลิมเกียรติฯ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมฯว่า จากกรณีที่ประชาชนในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้ร้องเรียนถึงปัญหาในช่วงฤดูแล้ง ที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา ส่วนในฤดูฝนก็มีน้ำหลากจากภูเขา(เขาใหญ่) ซึ่งพัดพาเอาเศษปฏิกูล รวมไปถึงเศษไม้ไหลลงสู่ลำตะคองเป็นจำนวนมาก ทำให้ลำน้ำเกิดการตื้นเขินเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำมาโดยตลอด
กรมชลประทาน ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการศึกษา “โครงการศึกษาความเหมาะสมการแก้ปัญหาการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา” เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง ตลอดจนพิจารณาการพัฒนาแหล่งน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพตามความเหมาะสม รวมถึงจัดทำกรอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของต้นน้ำลำตะคอง โดยมีพื้นที่การศึกษา 2 พื้นที่หลักคือ บริเวณเหนืออ่างฯ ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตำบล 2 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา และ 1 ตำบลในอำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก และพื้นที่ท้ายอ่างฯ ครอบคลุม 53 ตำบล 7 อำเภอ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกรมชลประทานจะดำเนินการ รวบรวมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม นำไปศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียด สำหรับนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป