ชป.พร้อมรับมือฝนตกหนักภาคใต้สุดสัปดาห์นี้
กรมชลประทาน พร้อมรับมือฝนตกหนักภาคใต้อีกระลอก หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฝนจะตกหนักและหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 24-30 พฤศจิกายน 2564 นี้ ด้านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ไสด้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและดินถล่มในหลายจังหวัดภาคใต้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วงวันที่ 26 – 30 พฤศจิกายน 2564 ในบริเวณจังหวัดต่างๆ ดังนี้ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเสี่ยงน้ำล้น อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯได้ ในส่วนของบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง และนราธิวาส ให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณปากอ่าว เนื่องจากจะมีระดับน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติประมาณ 0.5 – 1.0 เมตร
นายประพิศฯ กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมและเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ วางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารและระบบชลประทานทุกแห่ง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก/ป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญได้เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 350 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 440 เครื่อง และอื่นๆรวม 1,189 หน่วย ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ที่พร้อมจะปฏิบัติงานได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ขึ้น รวมไปถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรองให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว