โรงเรียนนายเรือ ถวายราชสักการะ ถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ครบรอบ 115 ปี

โรงเรียนนายเรือ ถวายราชสักการะ ถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ครบรอบ 115 ปี

 


พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะ และกล่าวถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ครบรอบ 115 ปี วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ให้การรับรอง พร้อมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือรุ่น 50 – 114 ร่วมพิธี โดยก่อนหน้านี้ในเวลา 0800 น. ศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือแต่ละรุ่นได้กระทำพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมา พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องค์มนตรี ในฐานะอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล ณ หอประชุมภูติอนันต์ โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทัพ และส่วนราชการในจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือร่วมพิธี

หลังเสร็จสิ้นพิธี โรงเรียนนายเรือได้จัดกิจกรรมพาศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือ ชมสถานที่สำคัญในโรงเรียนนายเรือ เพื่อย้อนระลึกจากในอดีตถึงปัจจุบัน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นสื่อการเรียนการสอน เช่นห้องเรียนแผนที่อิเล็คทรอนิกส์ ห้องจำลองการเดินเรือ ห้องเรียนอัจฉริยะ (smart classroom) หอดาราศาสตร์ ที่เป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทย ปัจุบันถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์อุปกรณ์การเดินเรือ และมีท้องฟ้าจำลอง ในการให้การศึกษาเส้นทางของดวงดาว

ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด  สำหรับโรงเรียนนายเรือ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของกองทัพเรือ มีหน้าที่ให้การศึกษา ฝึกและอบรมนักเรียนนายเรือด้านวิทยาการ วิชาทหาร จริยศึกษาและพลศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เหมาะสมที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร ของกองทัพเรือ สามารถปฏิบัติหน้าที่นายทหารสัญญาบัตรชั้นผู้น้อยในระยะแรก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรมประจำใจ มีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ สืบทอดแบบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือ เทิดทูน และยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีปรัชญา โรงเรียนนายเรือ” แหล่งผลิตนายทหารเรือ อันเป็นรากแก้วของกองทัพเรือ ”

โรงเรียนนายเรือได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 ( ร.ศ.117 ) และเปิดการเรียนการสอนนักเรียนนายเรือ ระยะแรกเคยใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือหลวงมูรธาวสิตสวัสดิ์ เป็นสถานที่ฝึกสอนนักเรียนนายเรือชั่วคราว และใช้เรือหลวงพาลีรั้งทวีป และเรือหลวงสุครีพ ครองเมือง เป็นสถานที่เรียนอีกด้วย โดยได้กำหนดให้มีการศึกษาในวิชาการทหารเรือ เลขคณิต และทหารราบ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และการฝึกหัดศึกษาอย่างเดียวกับคนประจำเรือ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2442 กรมทหารเรือในสมัยนั้นได้รับบุคคลภายนอกเข้าเรียนมากขึ้น จึงย้ายไปอยู่ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิม ที่สวนอนันตอุทยาน ธนบุรี และได้ทำการเรียนการสอนกันอย่างจริงจัง โดยมีนักเรียนทั้งหมด 19 นาย และมีนาวาโท ไซเดอร์ลิน (C.P.SEIDELIN) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ คนแรก หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่พระตำหนักสุนันทาลัย ปากคลองตลาด

จากเหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโอรสสองพระองค์ ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ คือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมัน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นความสำคัญของการให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ ในตำแหน่งสำคัญทางทหาร จึงได้มีการจัดส่งนายทหารเรือไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ มีการพัฒนาทั้งองค์บุคคลและองค์วัตถุควบคู่กันไป ปรับปรุงกำลังรบทางเรือให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทรงจัดการการศึกษาแก่ ทหารเรือไทย
ในปี พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ  ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จฯ มาเปิดโรงเรียนนายเรือ ทรงเสด็จมาเปิดโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานลายพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมโรงเรียน นายเรือ ความว่า “เราจุฬาลงกรณ์ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไปในภายหน้า ” จึงถือว่าในวันที่ 20 พฤศจิกายนเป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ  นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรืออย่างเป็นทางการ จนบัดนี้เป็นเวลา 115 ปีแล้ว และได้ทำการฝึกหัดศึกษานักเรียนนายเรือให้มีความรู้ ความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจต่างๆ ของกองทัพเรือ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน