สุดยอดผลงานนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ครั้งแรกของการจัดประกวดออกแบบ “งานกาชาดออนไลน์ในจินตนาการ Red Cross Fair Idea Challenge 2021″
ด้วยโปรแกรม Minecraft ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สืบเนื่องจากนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมการแข่งขันประกวดออกแบบ “งานกาชาดออนไลน์ในจินตนาการ Red Cross Fair Idea Challenge 2021″ ด้วยโปรแกรม Minecraft ระดับอุดมศึกษา
ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดทักษะความคิดสร้างสรรค์จินตนาการและการทำงานร่วมกันเป็นทีม ส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ผลงาน และส่งเสริมให้รู้จักกิจกรรมของสภากาชาดไทยผ่านการได้เยี่ยมชมงานกาชาดออนไลน์และให้เยาวชนได้มีจิตสำนึกของการเป็นผู้ให้ ผู้บริจาคจากพันธกิจต่าง ๆ ของสภากาชาดไทย ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลจะนำไปใช้ในการออกแบบการจัดงานกาชาดออนไลน์ ประจำปี 2564 ต่อไป
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ได้มีพิธีมอบรางวัล ณ สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย โดยนายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทยเป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลจากการประกวดครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4 รางวัล โดยมี ผศ. ภูริวัจน์ เดชอุ่ม และ อาจารย์ ดร.ดลฤทัย เจียรกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยว ภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ คณะมนุษยศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ
ทีม Firework 24/7 ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (จะเข้ารับพระราชทานรางวัลในโอกาสต่อไป) และเงินรางวัลจำนวน 40,000 บาท
สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวพิมพิศา จันทราศรี นางสาวปิยภรณ์ คำแพง นางสาวสุกัญญา สิริปานเดย์ นางสาวธัญญาเรศ ทับทิมศรี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
ทีม Prototype ได้รับถ้วยรางวัลจากสภากาชาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเงินรางวัลจํานวน 30,000 บาท
สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวธวรรณญา บุญเกื้อ นางสาวเยาวลักษณ์ สุขสัจจี นางสาวชนากานต์ สมหา
รางวัลชมเชย มี 2 ทีม ได้รับถ้วยรางวัลจากสภากาชาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม และเงินรางวัลจํานวน 5,000 บาท ดังนี้
ทีม SaNITIZer
สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวชญานี โอภาสเสรีผดุง นางสาวธนาภา ลาภจิรานนท์ นางสาวหนึ่งธิดา สุขเกษม
ทีม 11PM
สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวณัฐธิดา กรีหมื่นไวย์ นางสาวอติกานต์ บุญวิไล นางสาวธนนนท์ ชนะวัฒนวงศ์ นางสาวธัญวรัตน์ ณัฐชยางกุล นางสาววนิดา มีมั่งคั่ง
นางสาวธัญญาเรศ ทับทิมศรี นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยว ภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกทีม Firework 24/7 ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดออกแบบ “งานกาชาดออนไลน์ในจินตนาการ Red Cross Fair Idea Challenge 2021″ ด้วยโปรแกรม Minecraft ระดับอุดมศึกษา เล่าถึงแนวคิดว่า
จุดเด่นของงานกาชาดคือ ผู้เข้าชมงานสามาถเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ในงานกาชาดอย่างมี
ความสุข สนุกและเพลิดเพลิน ดังนั้นพวกเราจึงผนวกงานกาชาดในฝันของเราเข้ากับกิจกรรมเดิมที่มีอยู่ในงานกาชาด โดยเน้นไปที่การเล่าเรื่องเปรียบเสมือนกับการที่เรามีไกด์นำเที่ยว คอยให้ข้อมูลจุดต่างๆว่ามีความเป็นมายังไง เพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์ของงานให้เด่นขึ้นสร้างความแปลกใหม่โดยการเลือกใช้เทศกาลและกิจกรรมของต่างประเทศ เพื่อเพิ่มเรื่องราวของการจัดงานและสีสันของงาน ได้ทั้งความแปลกใหม่และกลิ่นไอของงานกาชาดแบบไทย ๆ ในส่วนของการตกแต่งสถานที่ เลือกใช้ความสวยงามของฤดูกาลต่าง ๆ มาเป็นจุดเด่นและนำสายตาพาผู้เข้าชมงานไปสัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของงานกาชาดในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจุดขายของเรา ก็คือบรรยากาศภายในงานกาชาดที่เสมือนจริงมากที่สุด และจะต้องมีความสวยงามด้วย ผู้เข้าชมงานสามารถเพลิดเพลินไปกับงานและร่วมกิจกรรมที่สนุกสนานได้เต็มที่ ซึ่งยังคงอิงกับกิจกรรมหลักๆของงานกาชาดที่จัดขึ้นในทุกๆปี เช่น กิจกรรมสอยดาว ก็จะมีต้นไม้สอยดาวกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ มีโซนอาหารที่มีความหลากไสตล์ ซึ่งผู้เข้าชมงานมักจะถูกดูดเข้าไปใช้เวลาในโซนนี้มากที่สุด รวมทั้งมีการประกวดชุดแต่งกายของผู้เข้าร่วมงาน เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดของการออกแบบงานกาชาดในจินตนาการของพวกเรา ก็คือ ออกแบบโดยคำนึงถึงการนำไปใช้งานได้จริง คือสามารถนำไปจัดงานได้ทั้งในรูปแบบออนโซต์และออนไลน์ และคำนึงถึงผู้ใช้งาน หรือ USER
การจัดงานกาชาดออนไลน์ในจินตนาการของทีม Firework 24/7 ออกแบบใช้แฟลตฟอร์มที่คล้ายกับการเข้ามาเล่นเกมออนไลน์ โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ประกอบด้วยส่วนที่ทำให้ง่ายต่อการเข้าใช้งาน และส่วนที่ Advance เพิ่มความแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น น่าสนใจให้กับกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มที่มีความถนัดในการใช้สื่อออนไลน์ แต่ก็ยังคงเป็นรูปแบบของ grandma friendly ดังนั้นการเข้าถึงงานกาชาดออนไลน์ของทีม Firework 24/7 จึงเข้าถึงได้ง่าย ทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเป็นโดยได้จัดทำระบบ NPC คอยช่วยเหลือและแนะนำการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มีทั้งเกมสำหรับเด็กได้เล่นอย่างสนุกสนานและการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ สำหรับผู้ใหญ่อย่างเพลิดเพลิน
ความรู้สึกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดการประกวดออกแบบ “งานกาชาดออนไลน์ในจินตนาการ Red Cross Fair Idea Challenge 2021″ ด้วยโปรแกรม Minecraft นางสาวธัญญาเรศ ทับทิมศรี เปิดเผยว่า ไม่คิดว่าความคิดในวันแรกที่อยากลองและหาประสบการณ์จะพาเรามาถึงจุดนี้ ดีใจมากๆ ค่ะ ที่ได้นำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้จริง ซึ่งตอนที่ลงเข้าประกวดพวกเราอยู่เเค่ปี 1 ไปลงเรียนวิชาปี 3 คือวิชาการจัด Event พออาจารย์มาบอกว่ามีการเเข่งนี้พวกเราสนใจมากเลยค่ะ ถึงแม้จะไม่ค่อยรู้เรื่องโปรแกรม Minecraft แต่พวกเราคิดว่าการศึกษาสิ่งใหม่ๆก็ไม่ใช่เรื่องยากถ้าเราตั้งใจจริงๆ
และขอฝากในส่วนของการทำงานเป็นทีมค่ะ เราต้องเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับผลงานชิ้นนี้ที่พวกเราตั้งใจทำและออกไอเดียร่วมกัน อยากจะเชิญชวนทุกคนให้ลองหาสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด หรือสิ่งที่สนใจแล้วลองลงแข่งขัน จะช่วยทำให้เราเข้าใจบทเรียนมากขึ้น ได้พัฒนาตนเอง สร้างความภูมิใจให้ตนเอง รวมไปถึงฝึกความรับผิดชอบของตนเองด้วย เพราะในช่วงที่พวกเราแข่งขันเป็นช่วงสอบและเรียนหนักมาก ท่ามกลางสถาพการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เราต้องมีการวางแผนบริหารจัดการเรื่องเวลาเพื่อมาทำผลงานออกแบบ เเต่พอสำเร็จแล้วเราจะรู้สึกดีกับตัวเองมากค่ะ สุดท้ายนี้ ขอฝากประโยคนี้ไว้นะคะ “คุณไม่มีทางสำเร็จได้ ถ้าคุณไม่เริ่มต้นที่จะทำ”
ด้านอาจารย์ ดร.ดลฤทัย เจียรกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยว ภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวถึงองค์ความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวแห่งอนาคต ว่า การเรียนการสอนสาขานวัตกรรมการท่องเที่ยว ภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับรายวิชาทางด้านธุรกิจไมซ์ (MICE) และอีเว้นท์ ซึ่งการจัดงานกาชาดก็ถือว่ารวมอยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ด้วย ทำให้นิสิตมีพื้นความรู้และทักษะความสามารถในด้านนี้เพียงพอที่จะเข้าร่วมประกวด ประกอบกับคนรุ่นใหม่มีความถนัดในด้านการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องที่จะต่อยอดผลงานด้วยการบูรณาการความรู้และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ที่สำคัญ ปลายทางของหลักสูตรอันถือว่าเป็นผลลัพธ์สำคัญของหลักสูตร คือ การสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ดังนั้น รายวิชา “โครงงานนวัตกรรมการท่องเที่ยว” จึงเป็น Platform ที่สำคัญในการส่งเสริมนิสิตให้บูรณาการความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาตลอด 4 ปีกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
การสร้างสรรค์อีเว้นท์รูปแบบใหม่ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยเท่านั้น และนอกจากจะมุ่งให้นิสิตมีความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งอนาคตแล้ว ยังมุ่งให้นิสิตรู้จักแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างงานเอง แทนที่จะเป็นบุคลากรในสถานประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สองปีที่ผ่านมา แหล่งงานน้อยลงมาก นิสิตจะต้องรู้จักการสร้างงานเองหรือเป็นผู้ประกอบการโดยอาจจะต่อยอดจากธุรกิจครอบครัวหรือสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ทุกคนคาดหวังและผลักดันส่งเสริมให้แก่นิสิต
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์