แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2565 ต่อยอดการทำงาน สนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความยั่งยืน

แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2565 ต่อยอดการทำงาน สนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความยั่งยืน

 

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น.ที่ ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ประชุมแถลงแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2565 ที่ยังคงปฏิบัติงานภายใต้กรอบแนวทางยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ร่วมใจชาวประชา นำพาสู่สันติสุข ต่อยอดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของปีที่ผ่านมา โดยยังคงดำเนินการตามนโยบายสำคัญเร่งด่วน 5 งาน แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบในการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมี ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ,ยะลา,นราธิวาส ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด, หน่วยขึ้นตรงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาย 4 ส่วนหน้า ตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 อย่างเคร่งครัด

พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า แผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2565 ยังคงปฏิบัติงานดำเนินนโยบายสำคัญเร่งด่วน 5 งาน อย่างต่อเนื่อง ทั้งการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ที่ได้มีการบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน โดยให้ชุดคุ้มครองตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนหนึ่งมอบหมายให้กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้รับผิดชอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารได้ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านอื่นๆ ด้วย กรอบแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้ดำเนินการในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2565 ในเรื่องยาเสพติดยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิมคือการยึดมั่นและป้องกัน บำบัดรักษา ซึ่งได้เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนนำบุตรหลานที่ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดตามโครงการ CBTx ชุมชนบำบัด, Camp35, และการปราบปรามรายใหญ่ที่มีการดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง ในด้านสังคมพหุวัฒนธรรม ก็จะดำเนินการต่อเนื่องในโครงการต่างๆ ต่อไป ซึ่งจะมีการบูรณาการกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ส่วนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนก็นับเป็นเรื่องที่สำคัญ จะเห็นว่าทุกองค์กรมีส่วนที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นในการสร้างสันติสุขให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงในปีที่ผ่านมามีตัวเลขที่ลดลง ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด – 19 คลี่คลาย พี่น้องประชาชนก็จะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้นตามนโยบายที่กำหนดไว้

สำหรับการพูดคุยสันติสุข ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้มีการนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลาย ก็จะมีโอกาสพูดคุยกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนแสดงความคิดเห็น และร่วมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ และในด้านมาตรการคุมเข้มตามแนวชายแดน ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องการฉีดวัคซีน เตรียมพร้อมเปิดแนวชายแดนเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถทำการค้ากันได้ในอนาคต แต่ในขณะนี้แนวชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเฝ้าระวังคุมเข้มตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมาย ในห้วงที่ผ่านมาได้มีการเข้าบังคับใช้กฎหมายในหลายพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหมาย ป.วิอาญา ได้เข้ามามอบตัว ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้เข้าสู่กระบวนการสร้างสันติสุขร่วมกัน

 

 

นิราช ทิพย์ศรี รายงาน