ชป.เตรียมรับมือพายุ“ไลออนร็อก”
สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง อิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่น “ไลออนร็อก” กรมชลประทาน สั่งทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมรับมือ ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน(11 ต.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 53,223 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 29,293 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 22,8632 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,083 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 6,387 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 11,788 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 15.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90.31 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.99 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 87.70 ของแผนฯ ทั้งนี้ จากการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ ทำให้ปัจจุบันสามารถใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำได้เต็มพื้นที่แล้ว ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันได้มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 1,100 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน(11 ต.ค.64) ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,371 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 359 ลบ.ม./วิ พร้อมปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,520 ลบ.ม./วิ ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรับลดการระบายน้ำเหลือ 451 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนบริเวณ อ.พัฒนานิคม ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมสถานการณ์น้ำดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ระดับตลิ่งประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน
ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ที่ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบกับอิทธิพลจากพายุโกนเซิน และพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำชี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้น ไหลเข้าท่วมพื้นที่ริมตลิ่งในหลายจังหวัด กรมชลประทาน ได้ทำการตัดยอดน้ำเข้าไปเก็บกักในพื้นที่แก้มลิงติดกับแม่น้ำชี พร้อมจัดจราจรทางน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล เพื่อเร่งการระบายน้ำในลำน้ำชี-มูล ลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำกว่าแม่น้ำมูลประมาณ 3.6 เมตร จึงทำให้การระบายทำได้ดี ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ตลิ่งประมาณสิ้นเดือนตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 11 ต.ค.64 พายุดีเปรสชัน “ไลออนร็อก” ปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบน คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงยังคงต้องเฝ้าระวังทิศทางของพายุและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่เริ่มคลี่คลายแล้ว ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เร่งสำรวจความเสียหายของอาคารชลประทาน เพื่อปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน จึงขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำหลากควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง