ผู้ประกอบการฟาร์มสุกร ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการประกอบกิจการ

ผู้ประกอบการฟาร์มสุกร ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการประกอบกิจการ

 


เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564 บริษัทสหไทยฟาร์ม จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในกรณีการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทฯ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2561 โดยเชิญตัวแทนกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการฟาร์มเข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุม โรงแรมพลอยพาเลซ อ.เมือง จ.มุกดาหาร

บริษัท สหไทยฟาร์ม จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 336 ม.2 ต.คำอาฮวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 400 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ฟาร์มสุกรประมาณ 100 ไร่ และอีก 300 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และเป็นกันชนป้องกันมลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจการฟาร์มสุกร โดยดำเนินกิจการในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งในขณะนั้นยังมีความห่างไกลจากแหล่งชุมชน แต่ด้วยความเจริญและมีการขยายตัวของชุมชนเข้ามาใกล้บริเวณฟาร์มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหากลิ่นมูลสุกรเล็ดลอดไปสร้างความรำคาญให้ชุมชนใกล้เคียง


นายสัตวแพทย์ชูยศ เชาว์ศิริกุล ผู้จัดการ สหไทยฟาร์มกล่าวว่า สหไทยฟาร์มมีระบบการเลี้ยงแบบคอกปิด หรือระบบอีแวป 100 % เพื่อลดปัญหากลิ่น แมลงวัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สุกรทั้งหมดจะถ่ายมูลเปียกประมาณ 10 ตันต่อวัน มูลสุกรจะถูกล้างลงท่อลำรางไปสู่บ่อไบโอแก๊สเพื่อลดกลิ่น และผลิตแก๊สมีเทนเพื่อส่งต่อไปยังเครื่องปั่นไฟ ส่วนมูลสุกรเมื่อแยกแก๊สออกแล้วก็นำเข้าเครื่องแยกกากเพื่อผลิตปุ๋ย ส่วนมูลที่เป็นน้ำก็จะผ่านการบำบัดอีก 8 บ่อ โดยบ่อสุดท้ายจะได้น้ำไปใช้ในการเกษตรในฟาร์ม ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย แต่เรื่องกลิ่นจะมีปัญหารบกวนชุมชนอยู่บ้าง โดยทางฟาร์มได้ทำการล้างทำความสะอาดคอกสุกรทุกวันพร้อมทั้งใช้อีเอ็ม และเอนไซม์ดับกลิ่นพ่นในคอกและลำรางน้ำเสีย และมีการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวกันกลิ่นมูลสุกร และได้มีการเพิ่มกลุ่มไลน์เพื่อรับแจ้งเตือนและประสานการแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นให้กับชุมชนโดยรอบ
ผู้จัดการสหไทยฟาร์มกล่าวเพิ่มเติมว่า การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้เพื่อหาแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพการป้องกันกลิ่นมูลสุกรให้ดียิ่งขึ้น โดยทางฟาร์มได้ทำข้อตกลงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) กับทางชุมชน เพื่อให้ฟาร์มและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อไป

 

ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร/รายงานจากมุกดาหาร