พล.อ.ประวิตรฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ SWOC สั่งทุกหน่วยงานเร่งช่วยประชาชนอย่างเต็มที่
บ่ายวันนี้ (29 ก.ย.64) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์อุทกภัย ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และนครราชสีมา รวมทั้งการคาดการณ์สถานการณ์พายุในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า และแผนรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและน้ำเอ่อล้นตลิ่งหลายแห่ง ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 23 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี นครสวรรค์ ระยอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ และลพบุรี กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือโดยทำการเร่งระบายน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ กรมชลประทาน ได้มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพอยู่เสมอ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัยควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำ และแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ตามนโยบายของรัฐบาล ให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม บ้านด่านลานหอย คีรีมาศ ศรีสำโรง และอำเภอเมืองสุโขทัย กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยม โดยใช้ระบบชลประทานในการจัดจราจรน้ำ ทำการหน่วงน้ำไว้ทางตอนบนของประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านหาดสะพานจันทร์ พร้อมกับรับน้ำเข้า ปตร.คลองหกบาท ในอัตรา 173.32 ลบ.ม./วินาที โดยจะแยกไปลงคลองยม-น่าน 74.28 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำยมสายเก่า 99.04 ลบ.ม./วินาที และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลักที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ 459.00 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมให้แม่น้ำยมสายหลักมีระดับต่ำ เพื่อให้น้ำที่มาจากลำน้ำแม่มอกระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวก พร้อมกับรับน้ำเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำยม ผ่านคลองเล็กต่างๆ รวมทั้งระบายน้ำผ่าน ปตร.บ้านยางซ้าย ช่วยเพิ่มการระบายน้ำไปยังด้านท้าย ทำให้น้ำในแม่น้ำยมระบายได้ดีขึ้น เพื่อให้น้ำจากทุ่งทะเลหลวง และคลองแม่รำพัน สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้อย่างสะดวกเช่นกัน นอกจานี้ ยังได้เร่งระบายน้ำในลำแม่มอกเข้าสู่แก้มลิงและพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ แก้มลิงวังทองแดง และแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งปากพระ และส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำยมต่อไป
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ โนนสูง ด่านขุนทด เมืองนครราชสีมา และโนนไทย สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) ปัจจุบัน(28 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 9.04 ล้าน ลบ.ม. หรือ 107 % ของความจุอ่างฯ แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างฯลดลง มีการระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและอาคารระบายน้ำล้นรวม 7.97 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 22.89 ล้าน ลบ.ม. หรือ 82 % ของความจุอ่างฯ แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างฯลดลง มีการระบายน้ำ 43.74 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีฝนตกหนักทางตอนบน ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้พื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายอ่างฯ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7-14 วัน และได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำเชียงไกร รวม 16 เครื่อง โดยได้รับการสนับสนุนรถสูบส่งน้ำระยะไกลจากศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา เร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำด้วยวิธีการต่างๆ เช่น คลองระบายน้ำชั่วคราว เครื่องสูบน้ำ และ กาลักน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนการระบายน้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์และแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ แผนเผชิญเหตุไว้รองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแล้ว
ในการนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกับสั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือฝนที่จะตกลงมาอีกในระยะต่อไป นอกจากนี้ยังได้ฝากความห่วงใยไปถึงพี่น้องทางภาคใต้ ซึ่งเหลืออีกเพียงเดือนเศษจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จึงกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากใน ช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 64 ที่จะถึงนี้ เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด