ฝนหลวงฯ ลงพื้นที่สำรวจความต้องการน้ำของข้าวนาปี และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ
วันที่ 24 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. นายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวงเปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงรายงานแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นประจำทุกวัน โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจำนวน 12 หน่วยฯ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ตาก และพิษณุโลก ภาคกลาง จ.ลพบุรี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ และนครราชสีมา ภาคตะวันออก จ.ระยอง และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามสภาพอากาศและนำมาวิเคราะห์วางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการขอรับบริการฝนหลวงในหลายพื้นที่ รวม 232 แห่ง ครอบคลุม 33 จังหวัด 115 อำเภอ ซึ่งมีการขอรับบริการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ยังคงติดตามสถานการณ์และวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ต้องการน้ำ โดยเมื่อวานนี้ได้ขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 1 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.กาฬสินธุ์ สกลนคร ขอนแก่น เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดย นายแทนไทร์ พลหาญ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มอบหมายให้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี ลงสำรวจพื้นที่การเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ บริเวณ อ.เมืองศรีสะเกษ อ.ราษีไศล อ.อุทุมพรพิสัย และอ.โพธิ์ศรีสุวรรณ พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปีอยู่ในระยะแตกกอ สถานการณ์น้ำในพื้นที่พบว่าพื้นที่นาลุ่มส่วนมากมีปริมาณน้ำชัง 5 – 10 เซนติเมตร พื้นที่นาดอนมีปริมาณน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าว ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี จะดำเนินการเร่งวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตรที่มีความต้องการและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้า จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาห์ฝนหลวง 10 สถานีทั่วประเทศ พบว่าในหลายพื้นที่ท้องฟ้ามีเมฆชั้นกลางชั้นสูง
ปกคลุม ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการยกตัวของอากาศและการพัฒนาตัวของเมฆ สำหรับวันนี้หน่วยปฏิบัติการ
ฝนหลวงจำนวน 4 หน่วย ไม่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ คือ หน่วยฯ กาญจนบุรี เนื่องจากติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ หน่วยฯ ลพบุรี เนื่องจากติดตามสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศ และลงสำรวจพื้นที่ หน่วยฯ ระยอง เนื่องจากมีสถานการณ์น้ำท่วมขังรอบพื้นที่เป้าหมาย และหน่วยฯ อุบลราชธานี เนื่องจากติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่การเกษตรที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” และอีก 8 หน่วยปฏิบัติการ ยังคงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำทันที โดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เสี่ยงที่มีน้ำท่วมขังหรือพื้นที่ที่ไม่มีความต้องการน้ำแล้ว
ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง ให้ข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นเพื่อใช้ประกอบการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารของ
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100