นายกฯ สั่งกรมชลฯ เตรียมพื้นที่รับน้ำหลากลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด
บ่ายวันนี้ (22 กันยายน 2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและรายงานแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากของจังหวัดเพชรบุรี ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร)
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งวางแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบในช่วงฤดูน้ำหลากอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 แห่ง (อ่างฯแก่งกระจาน อ่างฯห้วยแม่ประจันต์ และอ่างฯห้วยผาก) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 593 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้รวม 523 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 186 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงอีก 1 เดือนเศษๆ ด้วยการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงภัยต่างๆแล้ว สามารถปฏิบัติงานได้ทันที
ด้านการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่บ่อยครั้ง กรมชลประทาน จึงดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยควบคุมการระบายน้ำที่เขื่อนเพชรให้ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีในอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ ที่อำเภอเมือง ซึ่งน้ำส่วนที่เหลือจะถูกผันน้ำเข้าระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ในอัตรา 170 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะตัดยอดน้ำออกไปทางคลองระบายน้ำ D9 ก่อนระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย ในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลไปท่วมบริเวณอำเภอเมืองเพชรบุรีและอำเภอใกล้เคียง ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานในการควบคุมน้ำไว้ที่ 320 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในสภาวะปกติ และสามารถปรับเพิ่มการระบายได้อีก 24 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในสภาวะน้ำหลาก รวมอัตราการระบาย 344 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนจะไหลลงทะเลอ่าวไทย รวมระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร
กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างฯ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) นับว่าโครงการนี้เป็นการบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีทั้งระบบ ที่ได้กำหนดแนวทางการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทย ด้วยการปรับปรุงคลองระบายน้ำ คลองส่งน้ำ และการขุดขยายคลอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย