นายกสภาวิศวกร รุดลงพื้นที่ตั้งข้อสังเกต เหตุน้ำท่วมขัง “กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก”
พร้อมแนะหน่วยงานท้องถิ่น เร่งแก้ไขใน 3 มิติ
“เคลียร์เส้นทางน้ำ-ใช้เอไอคุมประตูระบายน้ำ-จัดสรรพื้นที่แก้มลิงใต้ดิน”
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร รุดตั้งข้อสังเกต เหตุ “กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก” ครอบคลุมพื้นที่ย่านชุมชน นิคมอุตสาหกรรม และสถานศึกษาเกิดน้ำท่วม พบน้ำไม่สามารถไหลออกสู่เส้นทางปกติได้ใน 2 เส้นทาง (1) ไหลผ่านไปยังเขตพื้นที่สำโรง บางปู คลองด่าน จ.สมุทรปราการ (2) ไหลผ่านประตูระบายน้ำฝั่งพระโขนง เพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา/ทะเลได้ตามลำดับ พร้อมแนะหน่วยงานท้องถิ่นเร่งแก้ไขใน 3 มิติ ได้แก่ (1) ผลักดันทางไหลของน้ำ ระดมหน่วยงาน-จิตอาสา ลงพื้นที่สำรวจคลองสาขา และคลองหลัก ให้ปราศจากวัชพืชหรือขยะ เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ (2) ใช้เอไอควบคุมการเปิด-ปิดประตูน้ำอัตโนมัติ ประเมินสถานการณ์น้ำก่อนสั่งเปิดหรือปิดประตู เพื่อลด Human Error (3) จัดสรรพื้นที่ “แก้มลิงใต้ดิน” หรือสวนสาธารณะในชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำกรณีฝนตกหนักหรือพักน้ำที่รอการระบาย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากกรณีฝนตกหนักต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ครอบคลุมย่านชุมชน นิคมอุตสาหกรรม และสถานศึกษาเกิดน้ำท่วม ที่โดยธรรมชาติน้ำจะไหลจากที่สูงไปยังพื้นที่ต่ำเสมอ ล่าสุดพื้นที่ลาดกระบังมีระดับน้ำท่วมที่สูงกว่าปกติ จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า เป็นเพราะน้ำไม่สามารถไหลออกสู่เส้นทางปกติได้ใน 2 เส้นทาง ประกอบด้วย (1) ไหลผ่านไปยังเขตพื้นที่สำโรง บางปู คลองด่าน จ.สมุทรปราการ (2) ไหลผ่านประตูระบายน้ำฝั่งพระโขนง เพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา/ทะเลได้ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่า การควบคุมระบบเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ยังไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่เกิดขึ้น จึงทำให้น้ำท่วมสูงกีดขวางเส้นทางจราจร กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชนยาวนานนับสัปดาห์
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนย่านลาดกระบัง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ สภาวิศวกร จึงมีข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการวางแผนการจัดสรรน้ำเมื่อเกิดภาวะวิกฤตใน 3 มิติ ดังนี้
- ผลักดันทางไหลของน้ำ ด้วยการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทีมจิตอาสา ลงพื้นที่สำรวจคลองสาขา และคลองหลัก ให้ปราศจากวัชพืชหรือขยะ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำจากทั้งในพื้นที่โดยรอบ น้ำฝน ตลอดจนเพิ่มอัตราการไหลของน้ำกรณีฝนตกหนักต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้เอไอเปิด-ปิดประตูน้ำอัตโนมัติ เพื่อประเมินสถานการณ์/ปริมาณน้ำ ทั้งต้นทางและปลายทาง ก่อนสั่งการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำ และสอดคล้องกับความสามารถในการรองรับน้ำพื้นที่ปลายทาง เพื่อลดการเกิดความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human Error)
- จัดสรรพื้นที่ “แก้มลิงใต้ดิน” หรือสวนสาธารณะในชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำกรณีฝนตกหนัก/รอการระบาย และในขณะเดียวกันยังสามารถเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชนได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ในภาคประชาชนที่มีความจำเป็นต้องสัญจรหรือขับขี่ยานพาหนะในเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังสูง แนะระมัดระวังการขับขี่ใน 2 รูปแบบ คือ (1) ขับเลนขวา เนื่องจากเลนซ้ายจะเป็นพื้นที่แอ่ง/ถูกออกแบบให้เป็นช่องทางระบายน้ำ จึงมีระดับน้ำท่วมขังที่สูงกว่าเลนขวา (2) ขับให้ช้าลง เพื่อป้องกันการเกิดคลื่นน้ำกระเซ็น หรือกระทบกับห้องเครื่องภายในรถยนต์ โดยเฉพาะหากเป็นเครื่องยนต์เก่า จะมีความเสี่ยงสูงที่เครื่องยนต์จะดับทันที อย่างไรก็ดี หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานวิศวกรรม สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำแนะนำได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัครสมาชิก สมัครสอบเพื่อขอหรือเลื่อนระดับ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และอื่น ๆ ของสภาวิศวกร สามารถติดต่อได้ที่ ไลน์ไอดี @coethai หรือติดตามข่าวสารและกิจกรรมความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรได้ที่ www.facebook.com/coethailand, www.coe.or.th และยูทูบช่อง “COE Thailand”