21 ก.ย. นี้ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดพื้นที่ร่วมเสวนาประเด็นร้อน
“ จับตาพื้นที่เสี่ยงพร้อมมาตรการเตรียมรับมือ “น้ำท่วม” ประเทศไทย ”
จากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกันยายน 2564 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักใน 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ชลบุรี แม่ฮ่องสอน และปราจีนบุรี รวม 5 อำเภอ 6 ตำบล 9 หมู่บ้าน ซึ่งในเบื้องต้นมีหลายหน่วยงานลงพื้นที่ประเมินความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนแล้ว นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง “พายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) เตือนภัยจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมประกาศให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากอีกด้วย
นอกจากนี้ จากกรณีฝนตกหนักต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้ในเขตกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ซึ่งครอบคลุมย่านชุมชน นิคมอุตสาหกรรม และสถานศึกษาเกิดน้ำท่วม ส่งผลให้เกิดความกังวลในประเด็นน้ำท่วมในปี 2564 ว่าจะมีผลกระทบระดับใด และ ประชาชนควรเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สำนักบริการวิชาการ จึงเปิดพื้นที่เป็นเวทีกลางสำหรับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจจากทุกภาคส่วน ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับวิทยากรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเสี่ยงอุทกภัยพร้อมมาตรการเตรียมรับมือน้ำท่วมของประเทศไทยในปี 2564 ในวันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 13.30 – 16.00 น. ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom , Facebook : สถานีวิทยุ มก. , You Tube : kuradio thailand และถ่ายทอดวิทยุ มก. บางเขน AM.1107 KHz. , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มก.ขอนแก่น AM.1314 KHz. , ภาคเหนือ มก.เชียงใหม่ AM. 61 2 KHz. , ภาคใต้ มก.สงขลา AM.1269 KHz.
โดยมีประเด็นในการเสวนา และ วิทยากร ดังนี้
ประเด็น แนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย
โดย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ประเด็น อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่มีผลต่อปริมาณน้ำฝนในไทย
โดย ดร.วัฒนา กันบัว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงานการพยากรณ์อุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา
ประเด็น การเตรียมความพร้อมและรับมือ”น้ำท่วม” จากระดับชาติถึงชุมชน
โดย รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประเด็น แนวนโยบายการประเมินความเสียหายและการช่วยเหลือประชาชน
โดย นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ดำเนินการเสวนา โดย ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม และลงทะเบียนเข้าร่วมที่ https://sites.google.com/ku.th/serviceconference
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์