กรมชลประทาน จับมือหลายหน่วยงาน เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ หลังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่
พร้อมสั่งจับตาเฝ้าระวังสถานการณ์ 24 ชั่วโมง ประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้แจ้งเตือนประชาชนรับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องแล้ว
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งทำให้ในช่วงวันที่ 10 – 14 กันยายน 2564 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากและดินถล่มพร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
ที่จังหวัดแพร่ ฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำบ่าไหลหลากลงสู่ลำห้วยธรรมชาติเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอเด่นชัย บริเวณบ้านข่วงบุก บ้านแม่พวก ตำบลห้วยไร่ และบ้านปากปาน ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย โครงการชลประทานแพร่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ในจุดเสี่ยงสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ได้ทันที ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติใน 1-2 วันนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม
ที่จังหวัดตาก มีฝนตกหนักถึงหนักมากในเขตอำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบนถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณหน้าโรงเรียนผดุงปัญญา และบริเวณหน้าศูนย์ TOYOTA ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก น้ำท่วมถนนสูงประมาณ 0.05 – 0.35 เมตร โครงการชลประทานตาก ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 นิ้ว บริเวณหน้าโรงเรียนผดุงปัญญา เพื่อสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ขณะนี้ระดับน้ำที่ท่วมขังลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติในเร็วนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม
ที่จังหวัดสุโขทัย พื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำแม่มอก บริเวณคลองแม่บ่อทอง ตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม มีน้ำป่าไหลหลากลงคลองส่งน้ำแม่บ่อทองเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำ และบริเวณห้วยแม่สิน ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย และมีน้ำท่วมถนนสายบ้านพงเสลียง–ห้วยโป้ ระดับน้ำท่วมสูง 0.50 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มทรงตัว โครงการชลประทานสุโขทัย ได้นำเครื่องจักร เครื่องมือเข้าไปติดตั้งพร้อมให้ความช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว
ที่จังหวัดเลย เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย ทางตอนบนของลุ่มน้ำหมัน ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทำการเกษตร 2 ฝั่งลำน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำเหือง โครงการชลประทานเลย ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่น้ำท่วมขังทั้ง 2 ฝั่งของลำน้ำลงสู่ลำน้ำหมัน เพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ด้านสถานการณ์น้ำที่จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) อำเภอด่านขุนทด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 8.40 ล้าน ลบ.ม. ของความจุอ่างฯ มีพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายอ่างฯ ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ตำบลกุดพิมาน ตำบลหนองบัวละคร ตำบลสระจระเข้ อำเภอด่านขุนทด ส่วนที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อำเภอโนนไทย มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 28.77 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ ได้แก่ ตำบลบัลลังก์ ตำบลบ้านวัง ตำบลค้างพลู ตำบลสำโรง ตำบลกำปัง ตำบลด่านจาก อำเภอโนนไทย ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ตำบลหนองบัวละคร อำเภอด่านขุนทด โครงการชลประทานนครราชสีมา ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง ที่อำเภอโนนสูง 2 เครื่อง และที่อำเภอโนนไทย 4 เครื่อง พร้อมทั้งบริการจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ(Rule Curve) ลดผลกระทบด้านท้ายอ่างฯ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนการระบายน้ำให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอ องค์กรปกครองท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์และแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ลุ่มน้ำลำเชียงสา อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว มีปริมาณน้ำในอ่าง 7.70 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินประมาณ 25.75 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 64 ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลไปที่บ้านสะแกราชในลำดับต่อไป ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ทันที
ที่จังหวัดปราจีนบุรี ระดับน้ำจากแควหนุมาน ที่ล้นตลิ่งท่วมชุมชนตลาดเก่ากบินทร์เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.32 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โครงการชลประทานปราจีนบุรี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ที่ตำบลโคกไม้ลาย สูบระบายน้ำออกจากพื้นที่หากเกิดน้ำท่วมขัง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง บริเวณสะพานต้นน้ำบางปะกง เพื่อเร่งระบายน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี ช่วยลดความเสียหายที่ชุมชนตลาดเก่า อำเภอกบินทร์บุรี ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่สามารถเก็บสิ่งของหนีน้ำได้ทัน เพราะทางเทศบาลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนนี้แล้ว
ด้านจังหวัดระยอง มีน้ำท่วมบริเวณคลองหวายช่วงปลาย เนื่องจากเป็นจุดรวมของคลอง 3 สาย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำมากเกินขีดจำกัดของคลอง ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ทั้งสองฝั่งคลอง บริเวณหมู่ 4 บ้านหนองจระเข้ ตำบลบ้านนา ประกอบกับคลองมีสภาพคดเคี้ยวไปมา ทำให้ระบายน้ำได้ช้า และมีน้ำท่วมบริเวณคลองบุญสัมพันธ์ หมู่ 8 และหมุ่ 10 ตำบลบ้านนา เนื่องจากปลายคลองบุญสัมพันธ์ที่เชื่อมกับคลองประแสร์ระบายน้ำได้ช้า เหตุจากน้ำในคลองประแสร์มีปริมาณน้ำมากเช่นกัน ทำให้มีน้ำล้นคลองไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 ฝั่งคลอง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ได้เพิ่มการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำหนองแหวน เร่งผลักดันน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว
ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำในคลองหกวาสายล่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมคลอง หมู่ที่ 1 ตำบลดอนฉิมพลี และหมู่ที่ 14 ตำบลบึงรักษ์น้ำ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ได้เร่งระบายน้ำออกทางสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ และเปิดระบายที่ประตูระบายน้ำปลายคลอง 18-21 ลงสู่แม่น้ำนครนายก และเปิดประตูระบายน้ำ 14-17 ลงคลองบางขนาก พร้อมกับเร่งระบายน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์และคลองหกวาสายล่าง เพื่อลดระดับน้ำ
ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สถานีวัดน้ำ S.33 อำเภอหล่มเก่า ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.30 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่สถานีวัดน้ำ S.3 อำเภอหล่มสัก ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.92 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น โครงการชลประทานเพชรบูรณ์ ได้ประสานไปยังเทศบาลเมืองหล่มสักให้ทำการแจ้งเตือนประชาชน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ไว้ในพื้นที่แล้ว
ที่จังหวัดสมุทรปราการ มีน้ำท่วมขัง ในพื้นที่อำเภอบางบ่อ และถนนเลียบคลองพระองค์ไชยานุชิต ระดับน้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.20 – 0.30 เมตร และบริเวณที่ต่ำประมาณ 0.50 เมตร สำนักเครื่องจักรกล ได้เข้าติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง บริเวณหน้าโรงพยาบาลและบริเวณหน้าอำเภอบางบ่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำบางปะกง เพื่อตัดยอดน้ำให้ออกสู่แม่น้ำบางปะกงและออกสู่ทะเลอ่าวไทยโดยเร็วต่อไป พร้อมทั้งเร่งเดินเครื่องสูบน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร และสถานีสูบน้ำตามแนวคลองชายทะเลรวมทั้งหมด 9 แห่ง ให้ได้ปริมาณการระบายไม่น้อยกว่า 20 ล้าน ลบ.ม./วัน