ฝนหลวงฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือ เกษตรกร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วันที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีฝนตกชุกหนาแน่น ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและเตรียมป้องกันอันตรายจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะนี้
ขณะเดียวกัน นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มอบหมายให้นางสาววีณา ใจซื่อ นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ และ นางสาววรรณกร นามมู ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อประสานข้อมูลกับ นายประสงค์ หลวงทำเม อาสาสมัครฝนหลวง อ.วังสามหมอ นายสุนทร ดวงประสิทธิ์ อาสาสมัครฝนหลวง อ.ศรีธาตุ และ นายไพรวัลย์ สงวนนาม เกษตรกร อ.ศรีธาตุ พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าว และ อ้อย ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา มีฝนตกในพื้นที่ ส่งผลให้เริ่มมีน้ำในพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ค่าความชื้นในดินสูงขึ้น รวมถึงข้าวทั้งในบริเวณที่ลุ่มและที่ดอนเริ่มฟื้นตัว แปลงนามีน้ำขังทั่วไป และมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการในการเพาะปลูก แต่ยังคงขอรับบริการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชผลต่อไปในระยะนี้ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ยังคงมีความต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี เพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง
สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ การตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศพบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศในภาพรวม สภาพอากาศดีมีความชื้นสูง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง โดยในช่วงเช้าวันนี้ สามารถวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ลพบุรี นครสวรรค์ สระบุรี อ่างทอง และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคกลาง
สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อื่น ๆ อีก 11 หน่วยปฏิบัติการจะยังคงติดตามสภาพอากาศต่อเนื่อง และหากระหว่างวัน สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งบทความ หัวข้อ “ในหลวง ร.9 ในความทรงจำ” เล่าเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ ความทรงจำ หรือความประทับใจที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยส่งบทความทางกล่องข้อความเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 กันยายน 2564