เจ้าพระยาน้ำเริ่มลดลง เร่งช่วยพื้นที่ท้ายอ่างฯลำเชียงไกร(ตอนล่าง)
ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยลุ่มน้ำลำเชียงไกรแล้ว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกกระจายและตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักมากขึ้น สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(8 ก.ย. 64) สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ วัดปริมาณน้ำไหลผ่านได้ 932 ลบ.ม. /วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.32 เมตร มีแนวโน้มลดลง และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 751.00 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 0.5 – 0.7 เมตร ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อย ในพื้นที่ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดแล้วก่อนหน้านี้
ด้านสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงวันที่ 26 ส.ค. – 7 ก.ย. 64 เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) อำเภอโนนไทย ในปริมาณมาก จนทำให้น้ำเต็มอ่างฯที่ระดับเก็กกัก 27.70 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ปริมาณฝนที่ตกยังส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายอ่างฯได้รับผลกระทบ 6 ตำบล 4 อำเภอ ประกอบด้วย ตำบลบัลลังก์ ตำบลกำปัง อำเภอโนนไทย ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ตำบลจันอัด ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง และตำบลหนองบัวละคร อำเภอด่านขุนทด (เป็นพื้นที่ด้านเหนืออ่างฯ) จึงจำเป็นต้องควบคุมการระบายน้ำออกจากอ่างโดยให้เกิดผลกระทบกับด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด ในอัตราประมาณ 24 ลบ.ม./วินาที คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 5 วัน หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ทั้งนี้ โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ดำเนินการช่วยเหลือโดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง ในเขตอำเภอโนนสูง 2 เครื่อง และอีก 4 เครื่อง ติดตั้งที่อำเภอโนนไทย เร่งผลักดันน้ำให้ไหลเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ รถแบคโฮ ไว้ช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับบริการจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรทั้งตอนบนและตอนล่าง เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายอ่างฯ และเปิดบานระบายของอาคารบังคับน้ำตลอดแนวลำเชียงไกร เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำมูล รวมทั้งผันน้ำเข้าสู่ลำน้ำสาขาลำตะกลึง ลงสู่ลำสะแทด ก่อนจะไหลลงลำน้ำมูลตามลำดับ