ฝนหลวงฯ ภาคอีสานตอนล่าง เร่งสำรวจและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี อ.สนม จ.สุรินทร์
วันที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการ ทั่วประเทศ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี กาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ มหาสารคาม ขอนแก่น ยโสธร สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 8 แห่ง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท่าแพ และอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุรินทร์ ได้มีการลงสำรวจและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี บริเวณอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ โดยพบว่า ข้าวนาปีซึ่งอยู่ในระยะเจริญเติบโตและประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง เนื่องจากทางกรมฝนหลวงฯ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีฝนตกเข้ามาในพื้นที่เป็นระยะ ๆ ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มเริ่มมีน้ำขังในกระทงนา เกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยในแปลงนาได้และทำให้ต้นข้าวกลับมาเจริญเติบโตดีขึ้น ส่วนในพื้นที่ดอน พบว่า
มีความชื้นเพิ่มขึ้น ต้นข้าวที่เหี่ยวเฉาเริ่มฟื้นตัวและสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่ยังไม่มีปริมาณน้ำขัง ในกระทงนา จึงทำให้ไม่สามารถใส่ปุ๋ยในแปลงนาได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าว
ในอนาคต เกษตรกรในพื้นที่จึงยังมีความต้องการขอรับบริการฝนหลวงให้ช่วยเหลือในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวจนกระทั่งสามารถให้ผลผลิตได้ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุรินทร์ จะยังคงติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่ดังกล่าวและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือต่อไป
สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ จากแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ณ เวลา 07.00 น. พบว่า แนวร่องมรสุมหรือร่องฝนที่พาดผ่านบริเวณตอนกลางของประเทศไทย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีกำลังแรงในขณะนี้ ส่งผลให้ประเทศไทย เกิดฝนตกบริเวณพื้นที่ตอนบนและตอนกลางของประเทศ ส่วนในพื้นที่ภาคใต้จะเกิดฝนตกลดน้อยลงไปบ้าง
เนื่องด้วยลักษณะของลมที่มีกำลังแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน ได้เกิดพายุหมุนเขตร้อนเริ่มก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 2 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อน “จันทู” โดยกำลังเคลื่อนตัวขึ้นไปทางประเทศไต้หวัน ซึ่งไม่ส่งอิทธิพลต่อประเทศไทย และพายุโซนร้อน “โกนเชิน” ที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือใกล้บริเวณเกาะไหหลำ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยอาจได้รับอิทธิพลจากพายุดังกล่าวในอีก 2 วันข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในด้านการขอรับบริการฝนหลวงยังคงมีการแจ้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง (6 ก.ย. 2564) พบว่า มีจำนวนรวม 747 แห่ง ครอบคลุม 49 จังหวัด 320 อำเภอ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการแจ้งขอรับบริการฝนหลวงเข้ามามากที่สุด จำนวน 423 แห่ง ดังนั้น ในวันนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการติดตามสภาพอากาศและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดพิษณุโลก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดนครราชสีมา มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดสุรินทร์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดสระแก้ว มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองระบม จังหวัดฉะเชิงเทรา
อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อื่น ๆ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที และอีก 1 หน่วยปฏิบัติการ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดอุบลราชธานี ไม่มีการบินปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากเครื่องบินกองทัพอากาศ ตรวจพิเศษประจำสัปดาห์ ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งบทความ หัวข้อ “ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ” เล่าเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ ความทรงจำ หรือความประทับใจที่มีต่อ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ โดยส่งบทความทางกล่องข้อความเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 กันยายน 2564