ฝนหลวงฯ ติดตามสภาพอากาศพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งและเติมน้ำต้นทุน
วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 10.30 น. นางนรีลักษณ์ วรรณสาย รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรด้านบริหาร เปิดเผยว่า โอกาสที่ทำให้เกิดฝนในช่วงนี้เกิดจากอิทธิพลของ
ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย จึงทำให้มีโอกาสเกิดฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แต่จากการลงพื้นที่สำรวจของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพบว่า หลายพื้นที่ยังคงมีปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีปริมาณฝนธรรมชาติไม่เพียงพอและอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและคุณภาพได้ จึงมีการขอรับบริการฝนหลวงเป็นจำนวนมาก รวม 760 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัด 322 อำเภอ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมากที่สุด จำนวน 433 แห่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละภูมิภาคนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง
นอกจากนี้ยังมีภารกิจการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนเป็นการปฏิบัติการฝนหลวงให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำ เพื่อให้มีน้ำเติมลงไปในเขื่อน เป็นน้ำต้นทุนให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตร และภารกิจอื่นๆที่สำคัญ ผลการปฏิบัติฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา ลำปาง สุโขทัย สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู นครราชสีมา และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 5 แห่ง อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก และบึงบอระเพ็ด
สำหรับวันนี้มี 3 หน่วยปฏิบัติการที่ไม่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยฯ พิษณุโลก และหน่วยฯ สระแก้ว เฝ้าสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และเครื่องบินกองทัพอากาศของหน่วยฯ สุราษฎร์ธานีตรวจสอบพิเศษประจำสัปดาห์ ทั้งนี้อีก 10 หน่วยปฏิบัติการยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายได้ทันที โดยพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และให้ข้อมูลเชิงพื้นที่ในเรื่องของสภาพอากาศ รวมทั้งคำแนะนำต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 นอกจากนี้ยังสามารถรับชมสารคดีเกี่ยวกับฝนหลวงได้ที่ Youtube ใต้ปีกฝนหลวง
สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งบทความ หัวข้อ “ในหลวง ร.๙ ในความทรงจำ”เล่าเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ ความทรงจำ หรือความประทับใจที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ ๙ โดยส่งบทความทางกล่องข้อความเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 กันยายน 2564