กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำท่วมขังพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และสมุทรปราการ
ล่าสุดสถานการณ์น้ำเริ่มทรงตัว หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วันนี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 30 ส.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 39,412 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 15,382 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 36,907 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,422 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,726 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 14.28 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 84.85 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์น้ำต้นทุนยังอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงจำเป็นต้องปรับลดการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนให้อยู่ในเกณฑ์น้อยที่สุด เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคให้ได้มากที่สุด และเตรียมวางมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูแล้งหน้า
ด้านสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดปราจีนบุรี บริเวณ อ.นาดี และ อ.กบินทร์บุรี กรมชลประทาน ได้ลดการระบายน้ำลงคลองพระปรงและห้วยโสมง ล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น.(30 ส.ค. 64) ที่ตลาดเก่ากบินทร์บุรี ระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรียังคงสูงกว่าตลิ่งประมาณ 33 เซนติเมตร แนวโน้มเริ่มลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตาสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มในพื้นที่ คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 – 3 วันนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณ อ.นาดี และ อ.กบินทร์บุรี เป็นจุดน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่ไหลลงมาจากเขาใหญ่ กรมชลประทาน จึงได้วางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว ด้วยการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ที่จะช่วยตัดยอดน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ด้วยการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับการเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดสุมทรปราการ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำตลอดแนวคลองชายทะเล 9 จุด และเร่งสูบน้ำทางตอนบนให้ไปลงแม่น้ำบางปะกง ร่วมด้วยการตัดยอดน้ำทางตอนบนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านทางคลองรังสิต และลดการระบายน้ำจากนครนายก เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลออกทางคลองรังสิต อีกด้านหนึ่งจะระบายน้ำออกทางซ้าย-ขวา ผ่านปตร.ชลหารพิจิตร และสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิระบายน้ำลงสู่ทะเล ในอัตรารวมกันทั้งสิ้นประมาณวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับประสาน กทม. ให้ลดการระบายน้ำลงสู่พื้นที่จ.สมุทรปราการ โดยให้ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เพื่อลดปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่จะไหลลงสู่จ.สมุทรปราการให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ รวมถึงสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานและสถานีสูบน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาลและกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ