ไทยเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 42 สมัยพิเศษ
พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย (SOM-AMAF Leader) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 42 สมัยพิเศษ (Special SOM-42nd AMAF) ที่จัดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วม 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอผลลัพธ์ในปี 2565 ของสาขาคณะทำงานด้านการเกษตรสาขาต่าง ๆ โดยประเทศไทยได้ยกร่าง Guideline on sharing, access to and use of IUU fishing-related information เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประสานงานเครือข่าย AN – IUU ใช้ในการปฏิบัติงานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประมงที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเห็นชอบเอกสารของคณะทำงานด้านเกษตรรายสาขา อาทิ คณะทำงานอาเซียนด้านอาหารฮาลาล คณะทำงานอาเซียนด้านปศุสัตว์ คณะทำงานอาเซียนด้านพืช คณะทำงานอาเซียนด้านประมง เป็นต้น ทั้งหมด 25 ฉบับ (endorsement) และรับทราบเอกสาร 4 ฉบับ (notation)
สำหรับในด้านปศุสัตว์ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในกรอบแผนยุทธศาสตร์การควบคุมป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ภายใต้โครงการความร่วมมือ SEACFMD (South-East Asia and China Foot and Mouth Disease (SEACFMD) Roadmap 2021 – 2025) จึงนำเสนอต่อที่ประชุมว่าเห็นสมควรผลักดันเกี่ยวกับการจัดทำโครงการที่เป็นรูปธรรมในการควบคุมป้องกันโรค FMD ในอาเซียนภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยครอบคลุมถึงโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องการควบคุมโรคระบาดสัตว์อื่น ๆ ด้วย เช่น โรค Lumpy Skin Disease (LSD), African Swine Fever (ASF) เป็นต้น เพื่อให้อาเซียนได้ประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น สาธาณรัฐเกาหลี รัสเซีย FAO, IRRI, World Bank และ OECD โดยประเทศไทยมีความร่วมมือกับ IRRI ในโครงการทดสอบสายพันธุ์ข้าวจากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศภายใต้โครงการ ASEAN RiceNet (IRRI-bred advanced lines testing under ASEAN Rice NET project) เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่า การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความต้านทาน ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือกับอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเพื่อพัฒนาด้านเกษตรและป่าไม้ในทุกมิติ