กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมืองส่งออก บ้านใหม่นาดี ปรับกลยุทธ์การขายสู้ภัยโควิด-19
หลังการส่งออกชะงัก เลยปรับกลยุทธ์การขาย มาบุกตลาดภายใน จนประสบผลสำเร็จ
กลุ่มใหม่นาดีโมเดล บ้านใหม่นาดี อ.จัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เป็นกลุ่มเลี้ยงไก่ พันธุ์พื้นเมืองแท้ส่งออกไปประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว กัมพูชา มีโควตา ส่งออกเดือนละกว่า 5 ตัน มีสมาชิกเลี้ยงไก่ และสมาชิกช่วยงานในกลุ่มกว่า 12 ครอบครัว ในแต่ละครอบครัวสมาชิก จะมีเล้า หรือโรงเรือนส่วนตัว แต่จะนำสินค้ามารวมกันเพื่อการขาย ซึ่งปริมาณการส่งออกตามโควต้าที่ได้รับ และไก่ทุกตัวต้องมีคุณภาพและน้ำหนักตามมาตรฐานสินค้า GFM (Good Farming Management )คือฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงที่เหมาะสมจากกรมปศุสัตว์
ในขณะเดียวกันกลุ่มก็ตั้งเป็นโรงเรียนเลี้ยงไก่ เพื่อสร้างระบบและเป็นตัวอย่างการเลี้ยงไก่ให้ได้คุณภาพตามต้องการ สร้างเครือข่ายให้กว้างขวาง และเพิ่มรายได้ให้แก่มวลสมาชิกไปด้วย – นาง ดาวเรือง จันทร์เจริญ ผอ.โรงเรียนเลี้ยงไก่พื้นเมือง เล่าว่า เริ่มกิจการนี้มาหลายปี มีแม่พันธ์พ่อพันธุ์ไก่มากว่า 20 คู่ โดยคัดจากไก่ที่เลี้ยงแยกโรงเรือนต่างหาก เมื่อไก่ผสมพันธุ์และแม่ไก่ออกไข่คราวละ 12-15 ฟองจะให้แม่ไก่ฟักตามธรรมชาติ แต่เมื่อฟักเป็นตัวแล้วจะแยกลูกไก่ไปอนุบาลและเลี้ยงต่างหาก แม่ไก่จึงสามารถมีลูกได้ปีละ 4- 6 รุ่น ไก่เล็กจะแยกโรงเรือน และแยกรุ่น ให้ยาป้องกันโรค จนอายุได้ 2 เดือนจะปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ ให้อาหารเสริมเป็นข้าวเปลือก เศษผัก รำ หญ้าเนเปีย เป็นต้น จนอายุได้ 6 เดือน สามารถจับขายได้ โดยเนื้อไก่จะมีคุณภาพน้ำหนักตามต้องการคือ 1.5-1.8 กก/ตัว เนื้อไก่จะแน่น ไม่เปื่อยยุ่ย ตลาดต้องการ ทั้งนี้จะมีปศุสัตว์อำเภอเข้ามาช่วยดูแลด้านวิขาการ การป้องกันโรค และตลาดการขายทั้งไนและต่างประเทศ จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักทำให้ตลาดปิดไม่สามารถส่งออกไก่ไปขายประเทศคู่ค้าได้ จึงหันมาเปิดตลาดภายในจังหวัด ด้วยการนำไก่มาชำแหละเป็นไก่เนื้อ ไก่สมุนไพร เครื่องในไก่ ชิ้นส่วนไก่ และไก่อบโอ่งเป็นต้น โดยนำไปขายที่ตลาดนัดชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งปรากฏว่าขายได้ดี เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทำรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไม่น้อยเลยในช่วงโควิด-19
นาย นัฐ พัชรไพลิน ปศุสัตว์อำเภอจัตุรัส ที่ปรึกษากลุ่มกล่าวว่า นอกจากจะขายไก่ชำแหละ เนื้อไก่ และชิ้นส่วนไก่แล้ว กลุ่มยังมีรายได้จากการขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่ และลูกไก่ แก่ผู้สนใจนำไปเลี้ยงด้วย ส่วนผู้สนใจเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่พื้นเมืองสามารถติดต่อเข้ามาเรียนได้โดยไม่คิดมูลค่าไดๆ ปัจจุบันกลุ่มไก่พื้นเมืองมีเครือข่ายกว่า 20 เครือข่าย นอกจากนี้กลุ่มยังมีโครงการ สร้างและส่งเสริมให้เกิดกลุ่มยุวเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ตามหลักวิชาการ หลังจากนั้นจะมอบพันธุ์ไก่ให้ไปเลี้ยงเป็นต้นทุนฟรีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างให้จัตุรัสเป็นเมืองแห่งไก่พื้นเมืองคุณภาพเพื่อการบริโภคและส่งออกในอนาคต
คำหอม ชุมชน ผู้สื่อข่าว จ.ชัยภูมิ///รายงาน