ชป.เตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “เจิมปากา” คาดส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มมากขึ้น
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังกรมอุตุฯ ประกาศเรื่องพายุโซนร้อน “เจิมปากา”ล่าสุดได้สั่งการให้โครงการชลประทาน เตรียมพร้อมในการช่วยเหลือในพื้นที่อย่างเต็มที่แล้ว โดยคาดว่าพายุมี่เกิดขึ้นน่า ส่งผลให้มีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นผลดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันความเค็มเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตรได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด โดยการปรับการระบายน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับฝนที่ตกลงมา เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ พร้อมทั้งกำชับให้โครงการชลประทาน ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ โดยเน้นย้ำให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460ทันที
อย่างไรก็ตามในส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,056 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,126 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 42,012 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 862 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 11.20 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 67 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 5.32 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของแผนฯ
อธิบดีกรมชลประทานบอกด้วยว่าปัจจุบันมีปริมาณฝนตกกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปัจจุบัน(19 ก.ค. 64) ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ .016 กรัม/ลิตร ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้ ด้วยการสำรองน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก สำหรับใช้ผลักดันน้ำเค็มในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมลำเลียงน้ำล่วงหน้าจากเขื่อนเจ้าพระยามายังสถานีสูบน้ำสิงหนาท เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง