ศูนย์ VGREEN มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอก REC จาก EGATT เป็นรายแรกของประเทศไทย

ศูนย์ VGREEN มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอก REC จาก EGATT เป็นรายแรกของประเทศไทย

 

ผศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ VGREEN, KU หรือ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก มาตรฐาน มอก.14065-2560 (ISO 14065 : 2013) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ( EGATT) ในฐานะผู้ให้การรับรอง (local issuer) ตามมาตรฐาน International Renewable Energy Certificate Standard (I-REC)ได้รับรองให้ VGREEN, KU หรือ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก มาตรฐาน มอก.14065-2560 (ISO 14065 : 2013) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ผู้ประเมินภายนอก (3rd party verifier) สำหรับการรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC, Renewable Energy Certificate) ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2564 ซึ่งถือเป็น*รายแรกของประเทศไทย* และเป็นรายเดียว ณ ขณะนี้ โดยมีผู้ทวนสอบขึ้นทะเบียน จำนวน 5 คน และพร้อมให้บริการประเมินเพื่อรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำหรับความสำคัญของใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ผศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง กล่าวว่า ถือเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของกลไก ช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการการพัฒนาและการผลิตพลังงานหมุนเวียน ภาคเอกชน มีทางเลือกในการใช้พลังงานหมุนเวียนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น นับเป็นการสร้างแหล่งพลังงานสะอาดและยั่งยืนในประเทศไทย และยังเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 ตามที่ให้คำมั่นในความตกลงปารีสก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ หน่วยการซื้อขายพลังงานหมุนเวียน คำนวณจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้จริง คือ ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 REC โดยการซื้อขาย REC กำหนดให้มีผู้เกี่ยวข้องหลัก 3 ส่วน คือ (1) ผู้ซื้อ REC หรือเรียกว่า Participant ส่วนมากมักจะเป็นหน่วยงาน หรือองค์กรชั้นนำที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินกิจการ เป็นผู้ส่งคำสั่งขอซื้อ REC จากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (2) ผู้ขาย REC หรือเรียกว่า Registrant คือ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีการผลิตไฟฟ้าจริง และได้ขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าไว้กับ I-REC แล้ว และ (3) ผู้ให้การรับรอง คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของกลไก ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และให้การรับรอง REC ของโรงไฟฟ้า โดยในประเทศไทย มี กฟผ. เป็นผู้ให้การรับรองแต่เพียงผู้เดียว

ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ I-REC ได้ที่ https://irecissuer.egat.co.th/ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ คุณธนนนท์ นุชเนตร ผู้จัดการระบบคุณภาพ (อีเมล tananon.n21@gmail.com โทรศัพท์ 065-092-4909)

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์