ฝนหลวงฯ แจ้งเตือนเกษตรกรรับมือฝนทิ้งช่วง พร้อมติดตามสภาพอากาศเพื่อบินช่วยเหลือพื้นที่ข้าวนาปีทั่วประเทศ
วันที่ 16 มิถุนายน 2564 นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ประเทศไทย ณ ขณะนี้จะมีฝนตกลดลงอันเนื่องมากจากอิทธิพลของ พายุโซนร้อน “โคะงุมะ” ได้สลายตัวลงไปแล้วทำให้คงเหลือเพียงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้น ที่มีกำลังปานกลางพัดปกคลุม ทำให้หลายพื้นที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ประกอบกับลมชั้นบนมีกำลังแรงพัดพาให้กลุ่มเมฆเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว จึงทำให้มีปริมาณฝนตกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงขอเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศ ระวังฝนทิ้งช่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ประเทศไทยขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารของกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน ในเรื่องของการใช้น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการปลูกข้าวอย่างเหมาะสม
ส่วนแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 01.00 น. แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพานำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลอันดามันเข้าปกคลุมในพื้นที่ทั่วประเทศ ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีโอกาสเกิดฝนตกในภาคเหนือ ร้อยละ 70 โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร ให้ระมัดระวังถึงฝนที่จะตกหนักและให้ฟังประกาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 40 ภาคกลาง ภาคตะวันออก ร้อยละ 60 ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ร้อยละ 40 และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ร้อยละ 60 ของพื้นที่
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงฯ วานนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โดยหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ได้ขึ้นบินเมื่อเวลา 15.20 น. ในขั้นตอนที่ 3 (ขั้นโจมตี) ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ปริมาณน้ำฝนประมาณ 0.4 – 35.0 มิลลิเมตร และหน่วยฯ จ.ลพบุรี ได้ขึ้นบินเมื่อเวลา 15.30 น. ในขั้นตอนที่ 3 ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1.5 – 66.5 มิลลิเมตร และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวังร่มเกล้า อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง และบึงบอระเพ็ด
ส่วนด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ จากผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง โดยทั้ง 13 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะขอติดตามสภาพอากาศในระหว่างวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที