หนุนเกษตรกรชายแดนใต้ปลูกถั่วลิสงพันธุ์ยอดนิยมขอนแก่น 6
เสริมรายได้ปังก่อนกรีดยาง
กรมวิชาการเกษตร ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ร่วมบูรณาการขับเคลื่อน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดชายแดนภาคใต้” ส่ง 5 ศูนย์วิจัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงหนุนเกษตรกรปลูกถั่วลิสงพันธุ์แนะนำของกรมขอนแก่น 6 เสริมรายได้ก่อนกรีดยางกว่าหมื่นบาท / ไร่ ลุยจัด 3 กิจกรรมเสริมองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สร้างแปลงต้นแบบ พร้อมขยายผลในพื้นที่ปลูกของเกษตรกร ชูถั่วลิงสงเป็นพืชยอดนิยมภาคใต้ช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้ขับเคลื่อนโครงการ ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบรรเทาปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัญหาของเกษตรกรที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะยางพาราและพึ่งพารายได้ทางเดียว ซึ่งต้นยางพาราที่ปลูกใหม่จะต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี จึงจะเริ่มเปิดกรีดน้ำยางได้ ดังนั้นระหว่างที่เกษตรกรรอรายได้จากสวนยางพาราควรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนเพื่อเสริมรายได้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา หน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินกิจกรรมถั่วลิสงพืชทางเลือกสู่รายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งถั่วลิสงถือเป็นพืชที่มีศักยภาพในการปลูกเป็นพืชแซมยาง โดยให้ผลผลิตสูงถึง 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาจำหน่ายขั้นต่ำประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม สามารถเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร ได้ถึง 8,000-12,000 บาทต่อไร่ อีกทั้งเป็นพืชที่ได้รับความนิยมบริโภคมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมถั่วลิสงพืชทางเลือกสู่รายได้ที่ยั่งยืน 5 หน่วยงานในเขตภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ โดยการดำเนินงานได้จัดให้มี 3 กิจกรรมย่อย คือ กิจกรรมอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วลิสง” และหลักสูตร “การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงไว้สำหรับในฤดูกาลถัดไป” มีเกษตรกรเป้าหมายจำนวน 830 ราย โดยเป็นการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเกษตรกร และมีการใช้แบบทดสอบประเมินความเข้าใจของเกษตรกรทั้งก่อนและหลังการอบรม กิจกรรมแปลงต้นแบบในศูนย์วิจัยฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรโดยได้มีการนำถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 พันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรมาทดลองปลูกในแปลงต้นแบบโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงตามหลักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีการปลูกถั่วลิสงพันธุ์จากแปลงต้นแบบ กิจกรรมแปลงขยายผลในพื้นที่เกษตรกร ซึ่งในปีนี้ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 65 ราย โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีความสนใจที่จะผลิตถั่วลิสงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งให้คำแนะนำและสนับสนุนให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งไว้ใช้สำหรับฤดูกาลปลูกต่อไป เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตในรอบถัดไป และได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ตลอดจนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร
โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากภาพรวมความสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมถั่วลิสงพืชทางเลือกสู่รายได้ที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการฯ ทำให้ในปี 2564 มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมากโดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกถั่วลิสงในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ทั้งนี้เกษตรกรสามารถขอรับคำแนะนำเทคโนโลยีการผลิตพืชที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 0-7444-5905