อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ อันตรายยอดติดเชื้อโควิด-19พุ่งสูง 68 รายมากที่สุดของจังหวัด ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั้งจังหวัดยังพุ่งสูงถึง 353 รายแล้ว
ด้าน ผอ.รพ.ศรีสะเกษ เผยผู้ที่เสียชีวิตรายล่าสุดรักษาอาการติดเชื้อโควิด-19 หายแล้ว
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จ.ศรีสะเกษ ระลอกเมษายน 2564 ประจำวันที่ 24 พ.ค. 64 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันนี้ จำนวน 20 ราย สะสม 353 ราย เสียชีวิตสะสม 2 ราย รักษาหายเพิ่มวันนี้ 11 ราย รักษาหายสะสม 222 ราย รักษาอยู่ 129 ราย โดยรักษาอยู่ที่ รพ.ศรีสะเกษมากที่สุด จำนวน 66 ราย Hospitel จำนวน 30 ราย รพ.ราษีไศล 25 ราย รพ.พยุห์ 6 ราย รพ.อุทุมพรพิสัย 2 ราย อำเภอที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของ จ.ศรีสะเกษคือ อำเภอศรีรัตนะ 68 ราย เพิ่มจากเดิม 12 ราย รองลงมาคือ อ.กันทรารมย์ 59 ราย อ.เมืองศรีสะเกษ 41 ราย อ.กันทรลักษ์ 34 รายเพิ่มจากเดิม 1 ราย อ.ศิลาลาด 23 ราย อ.อุทุมพรพิสัย 22 ราย เพิ่มจากเดิม 7 ราย อ.ขุขันธ์ 22 ราย อ.น้ำเกลี้ยง 22 ราย มีอำเภอที่ปลอดภัยที่สุดเนื่องจากยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 อำเภอคือ อ.พยุห์ อ.โนนคูณ อ.บึงบูรพ์ และ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ
นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในประกาศ รพ.ศรีสะเกษ เพื่อประกาศให้ประชาชนชาวศรีสะเกษได้ทราบโดยทั่วกันว่า จากกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 61 ปี ภูมิลำเนาอาศัยอยู่ใน อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ผู้เสียชีวิตรายนี้ เป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 70 ของ จ.ศรีสะเกษ และได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาโดย ผลการรักษาได้หายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว (ผลตรวจเป็นลบ) แต่เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ยังมีอาการปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย จึงได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ แต่ว่าอย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันและเพื่อความไม่ประมาท ในการประกอบพิธีฌาปนกิจศพนั้น เจ้าหน้าที่ รพ.ศรีสะเกษและเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างจิตต์ศรีสะเกษธรรมสถานจึงต้องทำการสวมชุดป้องกันตัวเองเหมือนกับการฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายอื่น จึงได้ประกาศเพื่อให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน
ทางด้าน นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศก. พร้อมกับตนได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดตั้งโรงครัวสนาม และรถผลิตน้ำดื่มของ ศปภ.เขต 13 อุบลราชธานี และประชุมติดตามผลการทำงาน ในระดับหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน ของ ศูนย์ฯ ส่วนหน้า อ.ศรีรัตนะ ร่วมกับ นอภ.ศรีรัตนะ และ อบต.ตูม รวมทั้ง ผญบ. ผู้นำชุมชน อปพร.จิตอาสา เพื่อกำหนดมาตรการในควบคุมการแพร่ระบาดCOVID-19 รวมทั้ง การประกอบอาหารเป็นข้าวปรุงสุก รวม 1,132 ชุด ที่บ้านตูมพัฒนา ม.2 เพื่อมอบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการในการปิดหมู่บ้าน ต.ตูม อ.ศรีรัตนะ รวม 7 หมู่บ้าน 1,500 ครัวเรือน ประชากร จำนวน 6,500คน
ภาพ / ข่าว บุญทัน ศรีวรรณ ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ