“อลงกรณ์”เดินหน้าเพชรบุรีโมเดล ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “1ปิด1เปิด”สู้ภัยโควิด ลงพื้นที่ระดมพลคนเกษตรร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน
ขยายเศรษฐกิจการค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรท่ายาง-บ้านลาด ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มยอดขายขยายการค้าช่วยเกษตรกร
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้(24พ.ค.)ว่า ภายใต้ข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทีมเกษตรเพชรบุรีได้เริ่มเดินหน้า “เพชรบุรีโมเดล” ด้วยยุทธศาสตร์ “1ปิด1เปิด” อย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดในชุมชนโรงงานกลุ่มคลัสเตอร์แคลคอมพ์แล้ว
เมื่อวันอาทิตย์(23พ.ค.)ที่ผ่านมา ตนและคณะประกอบด้วย นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด , นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองผู้จัดการใหญ่บริษัทไปรษณีย์ไทย , นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตร , นายอรรถพร พลบุตร คณะที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข , ดร.ทัดทอง พราหมณี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี , ดร.บัญญัติ ศิริธนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์AICและคณบดีคณะเกษตร พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด พร้อมด้วยนายพันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ ประธานหอการค้า , นางอารี โชติวงศ์ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานบริษัทประชารัฐเพชรบุรี ทีมกรมประชาสัมพันธ์, นายหยัน เยื่อใย ประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรท่ายาง , นายฟื้น พูลสมบัติ ประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดและผู้บริหารแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต(Thailand postmart)ได้ลงพื้นที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรท่ายางและตลาดกลางสินค้าเกษตรบ้านลาด พร้อมรับฟังบรรยายสรุปและร่วมประชุมหารือ โครงการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางการตลาดใหม่ เสริมการค้าแบบออฟไลน์ เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายเศรษฐกิจการค้า ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวโดยจะเร่งดำเนินการเริ่มคิกออฟการค้าออนไลน์ ทั้งการค้าแบบB2BและB2C ภายใน10วัน
นอกจากนี้ยังให้ส่งเสริมเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ สมุนไพร สินค้าประมงและปศุสัตว์ในตลาดกลางสินค้าเกษตรทั้ง2แห่ง ซึ่งเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ ในการกำกับของกระทรวงเกษตรฯเพียงจุดเดียวในรัศมีตั้งแต่จังหวัดชุมพร จนถึง กาญจนบุรี และสมุทรสาคร พร้อมกับให้คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ นำระบบสั่งซื้อล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์(pre order platform)มาใช้ด้วย หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดทุเรียนในประเทศจีน ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ ระบบประกันสินค้า ระบบสร้างแบรนด์สหกรณ์และสินค้าเกษตรมาใช้ด้วยและจะร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นศูนย์AICเพชรบุรี ในการอบรมบ่มเพาะ ด้านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะให้ทีมLocal Heroที่ผ่านการฝึกอบรมการขายออนไลน์ของกระทรวงเกษตรฯ มาช่วยสนับสนุนการทำงานและการสร้างคอนเทนต์ของสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ เร่งตรวจประเมินขึ้นทะเบียนรับรองGAPและGMPเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จะจัดตั้งหน่วยบริการพิเศษในตลาดกลางทั้ง2แห่ง เพื่อบริการการขนส่งทั้งระบบปกติและระบบควบคุมความเย็น(Cool container) สำหรับผักและผลไม้ โดยใช้แพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต
ในขณะที่พาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด จะช่วยด้านข้อมูลสถานประกอบการและโรงงานในกลุ่มเป้าหมายB2B สำหรับสหกรณ์การเกษตรท่ายาง และบ้านลาด รับผิดชอบการพัฒนาตลาดกลางและการคัดเลือกเกษตรกรและสินค้าเกษตรให้พร้อมขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยที่ประชุมกำหนดเป้าหมายให้เริ่มการขายออนไลน์ภายใน10วัน ภายใต้ความพร้อม ทั้งต้นน้ำการผลิต การแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การจัดการตลาด การพัฒนาคน การบริหารโลจิสติกส์ การบริหารธุรกิจและแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้แบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบุรี ที่สดสะอาดปลอดภัยจากไร่ถึงลูกค้า
นายอลงกรณ์กล่าวในตอนท้ายว่า เราระดมพลคนทุกภาคส่วนปิดเกมโควิดให้เร็วที่สุด พร้อมกับเปิดธุรกิจการค้าให้กว้างที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์1ปิด1เปิด” โดยเริ่มที่เพชรบุรีโมเดลเป็นจังหวัดแรก ก่อนขยายไปจังหวัดอื่นๆ ประการสำคัญคือเพชรบุรีอยู่ในกลุ่ม 10 จังหวัดแรกที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับการท่องเที่ยว จึงต้องเร่งมือเตรียมจังหวัดเพชรบุรีให้พร้อม สำหรับโอกาสในอนาคต