(วช.),สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย,(สพภ.),(มก.) และ moreloop รวมพลังขับเคลื่อนไทยด้วย BCG Model
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน),ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ moreloop พร้อมด้วยประชาคมนักวิจัย รวมพลังเสนอทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วย BCG Model เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
เมื่อวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมเปิดการเสวนา “รวมพลังประชาคมวิจัยขับเคลื่อนไทยด้วย BCG Model” กล่าวว่า (วช.) ในบทบาทการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โดยในประเด็นท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ได้รับงบประมาณจากกองทุน (ววน.) เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมในการจัดการกับปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy),เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ BCG Model มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง (อว.) ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 ที่มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพใหม่คุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรรมการ BCG กล่าวถึงประเด็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วย BCG model และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงประเด็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คุณอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Moreloop สตาร์ทอัพประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วย BCG model ในภาคของธุรกิจ และคุณพิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ สถาปนิกและพิธีกรรายการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ร่วมกันสรุปมุมมองการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่แนวคิดการร่วมมือแบบบูรณาการและการปฏิบัติจริง ซึ่งการวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยการเสริมจุดแข็งของการมีฐานทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพที่สูง เร่งกระบวนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ลดการใช้ทรัพยากร และหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน