” ประภัตร” สั่งเร่งรัด นำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือหลังเกิดการระบาดแล้ว20จังหวัด
ส่อเค้าบานปลายมั่นใจถึงไทยแน่นอนปลายเดือนพ.ค. นี้
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกิน (LSDV)ในโคกระบือว่าล่าสุดได้สั่งการให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เร่งรัดให้นำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน (LSDV) เพื่อใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคในโค-กระบือที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ราว 20 จังหวัด ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่ง ที่นำมาใช้ร่วมกับมาตรการด้านอื่นๆ ตามที่กรมปศุสัตว์ได้มีการเผยแพร่ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือในการควบคุมและป้องกันโรคดังกล่าวให้สงบลงโดยเร็ว
ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ทราบจากกรมปศุสัตว์ว่า ได้เกิดการระบาดของโรคนี้ในประเทศเมียนม่า ก็ได้มึการสั่งการให้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในทุกด่านตามแนวชายแดน ได้ตรวจติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดตากทันที จนเป็นที่มาของการปิดด่านตามแนวชายแดน และตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มข้น ตามแนวทางที่กรมปศุสัตว์เสนอมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ดำเนินมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ได้เกิดอุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวขึ้นโดยเกิดครั้งแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดร้อยเอ็ด และปัจจุบันก็ได้เกิดโรคนี้ลุกลามในพื้นที่จังหวัดต่างๆ แล้วราว 20 จังหวัด โดยโค-กระบือสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอัตราการตายที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายด้านอื่นๆ ตามมา กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว ได้กำชับและให้แนวทางแก่กรมปศุสัตว์ในการดำเนินมาตรการต่างๆ ให้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ หลายด้าน อย่างเข้มข้น รวมถึงได้มีการสั่งซื้อวัคซีน LSDV จาก บ. Inter vet intetnational BV ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีโรงงานผลิตในประเทศแอฟริกาใต้รวม 60,000 โด๊ส ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานเพื่อส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทย ซึ่งหากกระบวนการดังกล่าวไม่มีอะไรติดขัด ทางผู้ขายจะใช้เวลาในการส่งมอบทางเครื่องบิน 3 วัน ซึ่งประเมินไว้ในเบื้องต้นว่า จะได้รับวัคซีน LSDV ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 หลังจาก ผ่านกระบวนการต่างๆตามขั้นตอนในประเทศไทยแล้ว กรมฯ จะกระจายวัคซีนให้ถึงเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่เกิดโรค และในพื้นที่เสี่ยงสูง โดยเร็วที่สุด ภายใต้การกำกับ ดูแล ของกรมปศุสัตว์ อย่างใกล้ชิดต่อไป