องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)และสหภาพยุโรป(EU) ยกย่องไทยเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาประมง(IUU)อย่างยั่งยืนเชิญรัฐมนตรีเกษตร‘เฉลิมชัย “ศรีอ่อน’ กล่าวสุนทรพจน์บนเวทีนานาชาติ

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)และสหภาพยุโรป(EU)
ยกย่องไทยเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาประมง(IUU)อย่างยั่งยืนเชิญรัฐมนตรีเกษตร‘เฉลิมชัย “ศรีอ่อน’ กล่าวสุนทรพจน์บนเวทีนานาชาติ

 

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าล่าสุดองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) ส่งหนังสือเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น 1 ใน 6 รัฐมนตรี จากประเทศสมาชิก 194 ประเทศ เตรียมขึ้นเวทีระดับโลกกล่าวสุนทรพจน์ (Testimonial Statement) และเข้าร่วมการเสวนา (Panel Discussion) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง (High-Level Event) เรื่อง ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาทางด้านประมงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมประมง ทำงานบรูณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ กับผู้ประกอบการประมงพานิชย์ และชาวประมงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่และชัดเจน ที่จะขจัดปัญหาการทำประมง IUU มาอย่างต่อเนื่องเพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง มิใช่เฉพาะแต่ของไทยแต่หมายถึงทรัพยากรของโลกโดยภาพรวม

โดยการแก้ไขปัญหาประมง IUU ได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมง IUU ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4 ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย” พร้อมกับการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทยจนองค์การสหประชาชาติ FAO และสหภาพยุโรป ได้ยกย่องประเทศไทยเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหา IUU อย่างยั่งยืน

ขณะที่นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต(ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) รายงานว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในครั้งนี้ จะมีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำเสนอผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement หรือ PSMA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และส่งเสริมการดำเนินนโยบายของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) เพื่ออนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรประมงและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

โดยมีนายฉู ดองหยู ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO นายเวอร์จิเนียส ซิงคาวิสเซียส กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม มหาสมุทรและประมง และ นางแอ๊กเนส คาลิบาต้า ทูตพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติด้านระบบอาหารโลก ร่วมกล่าวเปิดการประชุมในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ และในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี FAO และประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะร่วมกันจัดกิจกรรมวันต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (International Day for the Fight against IUU Fishing) เพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการประมงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ FAO ได้เชิญรัฐมนตรีจาก 6 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สาธารณรัฐฟิจิ สาธารณรัฐโมซัมบิก สาธารณรัฐเปรู สเปน และประเทศไทย ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ และแถลงผลงานความสำเร็จในระดับประเทศในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เป็นรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมที่สำคัญระดับโลกในครั้งนี้ด้วย