(อว.) รายงานผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนไทย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากทั้งซิโนแวกและแอสตราซิเนกา
วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 : ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโรคโควิด-19 ทั้งสองชนิดที่ฉีดในคนไทย ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า “ทั้งวัคซีนของซิโนแวก และวัคซีนของแอสตราซิเนกา สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวกสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้”
ในการศึกษานี้ ได้ทำการตรวจวัดระดับแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือด ด้วยวิธี Roche Elecsys Electrochemiluminescence lmmunoassay (ECLIA) ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ เป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่
-กลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด โดยเจาะเลือดหลังจากนั้น 4-8 สัปดาห์ เพื่อดูว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่
-กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
-กลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกา โดยเจาะเลือดก่อนฉีด และหลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 4 สัปดาห์
-กลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวก โดยเจาะเลือดก่อนฉีด,หลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 3 สัปดาห์ และหลังฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์
ผลการตรวจวัดระดับแอนติบอดี และ % ตรวจพบแอนติบอดีในกลุ่มต่างๆ ซึ่งบ่งถึงการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เป็นดังนี้
กรณีที่การติดเชื้อโดยธรรมชาติ
-กลุ่มผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อและไม่ได้ฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)
-กลุ่มผู้เคยมีการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ตรวจพบแอนติบอดี 92.40% (243 ใน 263 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 60.9 unit/ml
วัคซีนของแอสตราซิเนกา
-ก่อนฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)
-หลังฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 97.26% (71 ใน 73 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 47.5 unit/ml
-ยังไม่มีผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่สอง เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาฉีดเข็มที่สอง
เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มอายุและตามเพศของผู้ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาโดยละเอียดแล้ว พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรก เป็นเวลา 4 สัปดาห์นั้น
-เพศชาย ตรวจพบแอนติบอดี 93.55% (29 ใน 31 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 32.9 unit/ml
-เพศหญิง ตรวจพบแอนติบอดี 100% (42 ใน 42 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 62.3 unit/ml
-กลุ่มอายุ 18-59 ปี ตรวจพบแอนติบอดี 100% (44 ใน 44 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 67.2 unit/ml
-กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ตรวจพบแอนติบอดี 93.11 % (27 ใน 29 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 28.1 unit/ml
วัคซีนของซิโนแวก
-ก่อนฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)
-หลังฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 65.96% (124 ใน 188 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 1.9 unit/ml
-หลังฉีดเข็มที่สอง 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 99.49% (196 ใน 197 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 85.9 unit/ml
ดังนั้น วัคซีนซิโนแวก สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก โดยเริ่มสร้างแอนติบอดีหลังฉีดเข็มแรก (ระดับยังต่ำ) และเพิ่มมากขึ้นหลังฉีดครบสองเข็ม ซึ่ง 99.49% ของผู้ที่ฉีดครบสองเข็มแล้วสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูงมาก
สรุปว่า วัคซีนทั้งสองชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวกสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
แหล่งข้อมูล : ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนับสนุนการวิจัยโดย : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์
ประมวลข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน