กรมอุทยานฯ ร้อง ป.ป.ช. สอบผู้บริหารระดับสูง และส.ป.ก.จังหวัด กับพวกรวม 56 คน มีมติ และออกส.ป.ก.4-01ในป่าธรรมชาติทับอุทยานแห่งชาติไทรโยค
วันนี้ 14 พ.ค.64 นายหิรัญเศรษฐ์ เหยี่ยวประยูร ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ป.ป.ช. พร้อมด้วยนางสาวสุนันทา จำปาเงิน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกาญจนบุรี , นายธนเกียรติ วัฒนศิลป์ นักสืบสวนทุจริต ชำนาญการ ป.ป.ช. ภาค 7 , นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) , นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค , นายไพโรจน์ เขียวแก้ว หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.1(ท่าเสา)ได้ลงพื้นที่บ้านพุองกะ ม.4 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในคดีตรวจยึดไม้ป่าหวงห้าม เมื่อวันที่11 เม.ย 2564 หลังตรวจพบไม้อายุร่วม 40 ปี จำนวน 400 ท่อน ในแปลง ส.ป.ก.4-01 ข. ของ นายกฤชชาติ (ขอสงวนนามสกุล) เนื้อที่ 45 ไร่ 2 งาน17 ตาราวา ที่ออกเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2561 และทับซ้อนกับเขตอุทยานไทรโยค จำนวน 5 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา ซึ่งในเรื่องนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว และถ้าหากพบการกระทำผิด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบถึงที่มาการออก ส.ป.ก.ดังกล่าว โดยตรวจดูจากเอกสารบันทึกการนำทำการรังวัดที่ดิน ลว.14 มิ.ย2559 ตรวจดูเอกสารข้อมูลตามคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดินลว.20 มิ.ย.2559 ที่นายกฤชชาติฯได้มาแจ้งข้อมูลว่า ตนเองเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และได้มีการทำไร่มันสำปะหลัง เต็มแปลง โดยมีนายณัฎฐสิทธิ์ รุ่งเรืองเลิศ ช่างสำรวจเป็นผู้รังวัดปักหลักเขตที่ดินในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว นายนภนต์ อิ่มเอิบ เจ้าหน้าที่ส.ป.ก.เป็นผู้สอบสวนสิทธิคุณสมบัติความเป็นเกษตรกรของนายกฤชชาติฯ น.ส.มันทนา ศรอารา ผู้ใหญ่บ้านม. 4 ต.ท่าเสา เป็นผู้รับรองการรังวัดปักหลักเขตที่ดินในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว แต่เมื่อมาตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง ปีพ.ศ. 2559 ในแปลงส.ป.ก.ดังกล่าว อ่าน แปล ตีความ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ พบว่ามีสภาพเป็นป่าผลัดใบเกือบทั้งหมด มีการทำพืชไร่เพียงเล็กน้อย เท่านั้น
อย่างไรก็ตามจากการสืบสวนของคณะเจ้าหน้าที่พบว่า นายกฤชชาติฯ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เขตบางซื่อ กทม.ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตอ.ไทรโยคในเดือนเม.ย.2559 เพียงประมาณ 3 เดือน ในช่วงเดือนก.ค. 2559 ก็ได้ย้ายกลับมาอยู่เขตบางซื่อ กทม.อีกครั้ง ที่ผ่านมานายกฤชชาติ ฯ ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำเสีย ปัจจุปัน นายกฤชชาติฯ อาศัยอยู่บ้านหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ที่แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม. และยังพบว่าเป็นที่อยู่เดียวกันกับบริษัทเคมีคอล ไดนามิคส์ จำกัด ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับบริการด้านระบบน้ำบำบัดน้ำเสีย
เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจดูรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการปฎิรูปที่ดินอำเภอไทรโยค ที่ได้มีประชุมครั้งที่ 2/2560 ในวันที่ 7 ก.ย. 2560 โดยมีนายเดโช ประกาศแก่นทราย นายอำเภอไทรโยคเป็นประธาน นายธเนตร พารา นิติกรชำนาญการพิเศษ ส.ป.ก.กาญจนบุรี เป็นเลขานุการ พร้อมด้วยอนุคณะกรรมการอีก 23 คน ได้มีมติอนุคณะกรรมการเห็นชอบ ให้นายกฤชชาติฯ เข้าทำประโยชน์ในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว และตรวจสอบรายงานการประชุม คณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้มีการประชุมครั้งที่ 3/2560 ในวันที่ 25 ก.ย.2560 โดยมีนายณรงค์ รักร้อย รองผวจ.กาญจนบุรี เป็นประธาน นายธเนตร พารา นิติกรชำนาญการพิเศษ เป็นเลขานุการ พร้อมคณะกรรมการอีก28 คนได้มีมติคณะกรรมการอนุมัติให้นายกฤชชาติฯ เข้าทำประโยชน์ในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว แต่เมื่อมาตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังในปี พ.ศ. 2560 อ่าน แปล ตีความ โดยผู้เชี่ยวชาญแผนที่ พบว่าบริเวณแปลง.ส.ป.ก. ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีการทำประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด
ซึ่งเมื่อคณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังปี พ.ศ.2561 ในแปลง ส.ป.ก. ดังกล่าว ในช่วงที่นายสมศักดิ์ แป้นถนอม ปฎิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดินส.ป.ก.4-01ข เลขที่4878 วันที่ 3 ม.ค.2561 ให้กับนายกฤชชาติฯตามมติของคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ครั้งที่ 3/2560 อ่าน แปล ตีความ โดยผู้เชี่ยวชาญแผนที่ พบว่า มีสภาพป่าธรรมชาติเต็มแปลง ไม่มีการทำประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด
โดยคณะเจ้าหน้าที่เห็นว่า การรังวัดปักแนวเขต การสอบสวนสิทธิ การรับรองของผู้ปกครองท้องที่ มติของอนุคณะกรรมการฯมติของคณะกรรมการฯรวมถึงการออกหนังสือส.ป.ก. 4-01ข.ดังกล่าว ขัดกับหนังสือ ด่วนที่สุด กษ1205/323 ลว.11 ม.ค. 2536 ข้อ3ในทางปฎิบัติ หากมีสภาพป่าหลงเหลือ ส.ป.ก.ก็จะไม่จัดที่ดินให้กับราษฎร ขัดกับมติครม.30 มี.ค.2536 ที่มีมติว่าบริเวณป่าสงวนฯใดมีสภาพป่าสมบูรณ์ก็ควรจะได้ดำเนินการกันพื้นที่ออกจากเขตปฎิรูปที่ดิน และให้รวมถึงพื้นที่อื่นด้วยเช่น กระทรวงกลาโหม กรมธนารักษ์ ฯลฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ขัดกับมติครม. 1 มี.ค.2537 ที่มีมติว่าในการสำรวจรังวัดออก ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่ป่าสงวนฯให้ดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ที่มีราษฎรถือครองทำกินแล้วเท่านั้น และให้รวมถึงพื้นที่อื่นด้วย เช่นกระทรวงกลาโหม กรมธนารักษ์ฯลฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นอกจากนี้แปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว ยังล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค เป็นการขัดกับมติครม.30 มิ.ย.2541 ข้อ2.1ที่ไม่ให้ดำเนินการปฎิรูปที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์
นอกจากนั้นคณะเจ้าหน้าที่เห็นว่า ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบนั้น ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาที่ 12909/2557 ตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า จำเลย ลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)ให้แก่นายด้าเอ็ม ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่า นายด้าเอ็ม ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้นายด้าเอ็ม ได้ไปซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)โดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐาน เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
นายนิพนธ์ฯ นายสมเจตน์ฯ จึงได้มอบบันทึกร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว ให้กับนายหิรัญเศรษฐ์ฯเพื่อให้ดำเนินตามพรบ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561 กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
นายสมเจตน์ฯยังได้เปิดเผยต่อไปว่ายังมีแปลง ส.ป.ก. ออกทับซ้อนอยู่กับอุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ จำนวนถึง 2,896ไร่ ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติไทรโยคจะรวบรวม ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป