สวก. จับมือ กรมประมง สร้างขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมประมงยั่งยืน ลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เปิดเผยว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ กระแสความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยของอาหารในวิถีปกติใหม่หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยในฐานะครัวของโลก จึงต้องปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ประเทศไทยส่งไปเลี้ยงประชากรโลก ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าประมงของไทยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภายหลังจาก “การทำประมงอย่างยั่งยืน” ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ถูกหยิบยกเป็นประเด็นในการกีดกันทางการค้า
ทั้งเรื่องการไม่ได้ใช้เครื่องมือแยกเต่าทะเล (TEDs) การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) การนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่สำหรับการประมงในประเทศไทย ส่งผลให้วัตถุดิบที่เข้าสู่อุตสาหกรรมประมงต้องมาจากการทำประมงอย่างความรับผิดชอบ การประมงยั่งยืน และการประมงที่ถูกกฎหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกื้อกูลต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งยกระดับการจัดการประมงและระบบการผลิตสินค้าประมงของไทยให้ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ในด้านการจัดหาวัตถุดิบที่มาจากการประมงที่มีความรับผิดชอบ มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน และสามารถตรวจสอบกลับได้ และการสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรเป็นสิ่งสำคัญที่ Fisheries Improvement Program (FIP) กำหนดเป็นตัวชี้วัดสำคัญ สิ่งที่ต้องการขับเคลื่อนของภาครัฐเป็นใหญ่โดยมีการทำงานใกล้ชิดกับชุมชน และทุกๆ ภาคส่วน เพื่อเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเกิดสมดุลของระบบนิเวศ
สวก. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการงานวิจัยทางด้านการเกษตรของประเทศ ภายใต้แผนงานวิจัยสัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงปัญหาดังกล่าว จึงให้การสนับสนุนทีมวิจัย นำโดย กรมประมง รวมทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและหาแนวทางการแก้ปัญหาภายใต้โครงการ การศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระบบการประมงทะเล เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันของอุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบการรับรองมาตรฐานสากล โดยมีแผนการดำเนินงานวิจัยภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการทบทวน รวบรวม จัดเก็บข้อมูล การทำการประมง ชีววิทยาประมง นิเวศวิทยาการทำการประมง สังคมเศรษฐกิจ รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำการประมง เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงมาตรฐานการทำการประมงอย่างยั่งยืนของการทำประมงปูม้าในอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ประมงอวนลากในบริเวณอ่าวไทย และประมงอวนล้อมจับในน่านน้ำไทย ประกอบด้วย อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนบน อ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยตอนล่าง และฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้กรอบการรับรองมาตรฐานสากลสำหรับอุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืน ให้สามารถผ่านการประเมินการทำประมงอย่างยั่งยืนจาก Marine Stewardship Council (MSC) รวมถึงนำผลการวิเคราะห์มาใช้เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ ที่ดีที่สุดสำหรับการออกมาตรการการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากร
ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้จะสามารถนำมาใช้ในการจัดทำแผนงานและมาตรการพัฒนาและปรับปรุงระบบการทำประมงที่ยั่งยืนและเป็นไปตามหลักสากล (Fisheries Standard) ตลอดห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์ (Chain of Custody) รวมทั้งแผนการปฏิบัติการประมงที่ดีตามมาตรฐานสากลเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และภาคอุตสาหกรรมประมงของไทยสามารถนำผลการดำเนินงานไปยื่นขอ Eco-labelling บนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก เพื่อลดปัญหาการกีดกันทางการค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นแนวทางในการทำการประมงอย่างยั่งยืน ต่อไป