DSI สรุปสถานการณ์ 4 เดือน การรับแจ้งภัยไซเบอร์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “รู้ทัน : Rootan” ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดของภัยไซเบอร์ในรูปแบบ Mobile Application ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้บน Google Play ได้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2564 และ App Store ได้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ปรากฏว่ามียอดดาวน์โหลดผ่านระบบปฏิบัติการ Android ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 25 เมษายน 2564 จำนวน 4,691 ครั้ง และระบบปฏิบัติการ iOS ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2564 จำนวน 1,043 ครั้ง รวมทั้งหมด 5,734 ครั้ง
โดยมียอดการแจ้งเบาะแส จำนวนทั้งสิ้น 1,759 เรื่อง ซึ่งพบว่าเรื่องที่มีการแจ้งเบาะแสสูงสุดตามลำดับ คือ การกู้ยืมเงินออนไลน์ 1,615 เรื่อง การซื้อ/ขายสินค้าผิดกฎหมายทางออนไลน์ 10 เรื่อง การพนันออนไลน์ 16 เรื่อง การหลอกลวงชื้อขายสินค้า/บริการทางออนไลน์ 24 เรื่อง การหลอกลวงโดยปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น 10 เรื่อง การหลอกลวงให้โอนเงินผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ 5 เรื่อง การเผยแพร่ภาพ/สื่อลามก อนาจาร 2 เรื่อง การแฮ็กระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 20 เรื่อง และอื่นๆ 57 เรื่อง จากข้อมูลสามารถวิเคราะห์ได้ว่า การกู้ยืมเงินออนไลน์เป็นเบาะแสที่ได้รับแจ้งมากที่สุด ในทุกภูมิภาค ชี้ให้เห็นว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางการเงิน จึงไปพึ่งพาการกู้ยืมนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
โดยจังหวัดที่มีการแจ้งเบาะแส เข้ามามากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 587 เรื่อง จังหวัดชลบุรี 113 เรื่อง จังหวัดปทุมธานี 89 เรื่อง จังหวัดเลย 73 เรื่อง และจังหวัดเชียงใหม่ 55 เรื่อง
ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคกลางพบว่า กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีความเข้มข้นของเบาะแสการ กระทำความผิดมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ ภาคตะวันออก พบว่าจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีความเข้มข้นของเบาะแสการกระทำความผิดมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าจังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีความเข้มข้นของเบาะแสการกระทำความผิดมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี ภาคเหนือ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความเข้มข้นของเบาะแสการกระทำความผิดมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงราย ส่วนภาคใต้ พบว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีความเข้มข้นของเบาะแสการกระทำความผิดมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา
จากข้อมูลดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ สามารถขยายผลเป็นคดีพิเศษและเรื่องสืบสวน ดังนี้ กรณีเข้าตรวจค้นจับกุมเครือข่ายปล่อยเงินกู้ผ่านแอปพลิเคชัน เป็นคดีพิเศษที่ 80/2563,กรณีเข้าตรวจค้นสถานที่ 5 แห่ง เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์รายใหญ่ของประเทศ Fwiptv.cc เป็นคดีพิเศษที่ 33/2563,กรณีผู้กระทำผิดส่งข้อความสั้น SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือโดยอ้างว่า ส่งมาจากธนาคารเพื่อหลอกลวงให้ผู้รับข้อความกระทำการอัพเดทข้อมูลส่วนบุคคลแล้วถอนเงินออกจากบัญชี เป็นเรื่องสืบสวนที่ 27/2564 และกรณีการประกาศขายบัญชีธนาคารบัตรกดเงินสดและซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเรื่องสืบสวนที่ 47/2564
นอกจากนี้บางกรณีได้ส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนภัยประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชัน “รู้ทัน : Rootan” จำนวน 54 เรื่อง เพื่อให้ประชาชนทราบถึงภัยทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ และเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา-2019 (โควิด-19) ที่อาจมีมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงหรือแสวงหาผลประโยชน์เป็นการซ้ำเติมประชาชน จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “รู้ทัน : Rootan” เพื่อเป็นช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและแจ้งร้องเรียนเบาะแส โดยสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้บน Google Play และ App Store สำหรับขั้นตอนการโหลดแอปพลิเคชัน “รู้ทัน : Rootan” ได้ตามลิงก์ https://rootan.dsi.go.th/index.html หรือสามารถสแกนผ่าน QR-CODE
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน