(อว.)ใช้เอไอตรวจสอบพบ 98.14% ของคนกรุงเทพฯ ใส่หน้ากากอนามัย เผยเขตยานนาวา มี ปชช.ใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องสูงสุด
ทั้งยังพบว่าวันเสาร์-อาทิตย์ มีอัตราส่วนการใส่หน้ากากอนามัยน้อยกว่าช่วงวันทำงาน
วันที่ 25 เม.ย.64 : ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก (อว.) ได้ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) แบบเรียลไทม์ ติดตามประเมินการใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง พบว่าในช่วงนี้อัตราการใส่หน้ากากอนามัยได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีผู้ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง สูงถึง 98.14% เทียบกับช่วงที่ผ่านมาซึ่งเคยลดลงต่ำสุดถึง 91.62% ในช่วงเดือน มี.ค.64 ทั้งนี้ การระมัดระวังตัวโดยใส่หน้ากากอนามัยได้เพิ่มมากขึ้นมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือน มี.ค.64 หลังมีข่าวเหตุการณ์ระบาดเป็นระยะ เริ่มจากคลัสเตอร์ตลาดบางแค คลัสเตอร์สถานบันเทิง และต่อมาเกิดการระบาดในวงกว้าง ซึ่งทำให้มีคนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยหรือใส่ไม่ถูกต้องที่เคยสูงถึง 8.38% ลดลงเหลือเพียง 1.86% หรือเท่ากับลดลงกว่า 4.5 เท่า
ด้าน ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เอไอมาสต์ ปัจจุบันมีการเฝ้าระวังการใส่หน้ากากอนามัยใน 30 เขตทั่วกรุงเทพฯ จากข้อมูลล่าสุดในวันที่ 22 เม.ย.64 พบว่า เขตยานนาวา มีประชาชนผู้สัญจรใส่หน้ากากถูกต้องเพียง 84% หรือมีผู้ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่ไม่ถูกต้อง สูงถึง 1 ใน 6 คน ส่วนเขตคลองสานมีอัตราการใส่หน้ากากไม่ถูกต้องหรือไม่ใส่หน้ากากอนามัย 1 ใน 15 คน ส่วนเขตอื่นๆ มีอัตราการใส่หน้ากากถูกต้องสูงกว่า 95% ทั้งสิ้น เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบเอไอโดยละเอียดแล้ว พบว่าประชาชนมีความระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ก็ยังมีอัตราส่วนการใส่หน้ากากอนามัยน้อยกว่าช่วงวันทำงาน รวมทั้งในบางบริเวณของ กทม. ยังมีผู้ใส่หน้ากากอนามัยไม่มากนัก ซึ่งจะต้องเข้าไปกำกับดูแลรายละเอียดในแต่ละพื้นที่อย่างเข้มงวดมากขึ้นเป็นกรณีด้วย
“แม้ในช่วงนี้การใส่หน้ากากอนามัยดีขึ้นมาก แต่ขอความร่วมมือทุกคน ระมัดระวังตัวอย่างสูงสุด โดยขอให้อัตราการใส่หน้ากากอนามัยสูงเป็น 100% ในทุกพื้นที่” ปลัด (อว.) กล่าวและว่า สำหรับ โครงการระบบปัญญาประดิษฐ์ (ระบบเอไอ AiMASK) ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย พัฒนา โดยคณะผู้วิจัยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และโครงการซูเปอร์เอไอเอ็นจิเนียร์ สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน