เลขาธิการ (กช.) บรรยายพิเศษและมอบโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ในการประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนมุ่งสู่สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในการเปิดการประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนมุ่งสู่สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุมโรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพล.ต.ธิรา แดหวา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมพบปะและบรรยายพิเศษ
โดยมี ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ประธานและคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนผู้บริหาร ครูโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา,สงขลา,นราธิวาสสตูล และ ปัตตานี เข้าร่วมการประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุมโรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เลขาธิการ (กช.) กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า “การประชุมฯ ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาเอกชน เสริมสร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หน่วยงานทางการศึกษา หน่วยงานความมั่นคง กับโรงเรียนเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ และมุ่งหวังให้เกิดความสันติสุขโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และการศึกษาเอกชน ถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่สำคัญ”
“เนื่องจากการศึกษาเอกชนเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และเป็นทางเลือกที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดการศึกษา รวมทั้งการศึกษาเอกชนยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศอีกด้วย และเป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบการศึกษาไทนกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการทั้งด้านการสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพ มีจำนวนกำลังคนที่เพียงพอต่อตลาดแรงงานและมีศักยภาพเหมาะสมในการเข้าสู่สังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า”
เลขาธิการ (กช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยการลงทุนที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศโดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบการศึกษาของไทยต่อไปในระยะยาว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกท่านควรจะต้องตระหนัก และร่วมมือกันในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีศักยภาพที่เพียงพอต่อการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศและรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญทุกท่านจะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ให้เด็กและเยาวชนไทย รวมทั้งความยึดมั่นต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นคนไทย อีกด้วย”
“นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดการศึกษายังต้องคำนึงถึงบริบทด้านความมั่นคง และการจัดการศึกษาเชิงสังคมพหุวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาด้วย เนื่องจากโรงเรียนเอกชนเป็นสถานศึกษาที่ประชาชนในพื้นที่ นิยมส่งบุตร หลานเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ขอให้ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ต้องบริหารและจัดการการศึกษาเอกชนภายใต้ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อความมั่นคงเป็นสำคัญ” ดร.อรรถพลฯ กล่าวทิ้งท้าย
Cr.กรรณิกา พันธ์คลอง : ภาพ/ข่าว
ประชาสัมพันธ์ (สช.)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน