กฟผ. เหมืองแม่เมาะ รับรางวัล CSR-DPIM 10 ปีต่อเนื่อง
กฟผ. เหมืองแม่เมาะ มุ่งรักษามาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมได้รับรางวัล CSR-DPIM อย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 10 ยืนยันบริหารจัดการเหมืองสำหรับการผลิตไฟฟ้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) ประจำปี 2563 เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่มีการดำเนินงานตามมาตรฐานที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กำหนด โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ – 1 เป็นผู้แทน กฟผ. รับมอบรางวัล ณ ห้องศูนย์เผยแพร่ความรู้และให้บริการ ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นายณรงค์ศักดิ์ มาวงศ์ กล่าวว่า กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ได้รับรางวัลโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการมอบรางวัล ในปี 2553 โดยได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจาก กพร. ที่กำหนด ซึ่งเหมืองแม่เมาะ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ตามนโยบายของ กฟผ. ที่ผ่านมา กฟผ.แม่เมาะได้จัดทำแผนงานโครงการพัฒนา ตามความต้องการและความคาดหวังของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ CSR-DPIM เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า กฟผ. เหมืองแม่เมาะ มีการบริหารจัดการเหมืองแร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลัก มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม และยังเป็นการแสดงเจตจำนงในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ทั้งนี้ เหมืองแม่เมาะได้มีการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในหลากหลายด้าน เช่น การศึกษาวิจัยและนำเทคโลยีเข้ามาใช้ในการควบคุมสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องของฝุ่น กลิ่น เสียงแรงสั่นสะเทือน คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ และการฟื้นฟูสภาพเหมือง โดยการควบคุมฝุ่นของเหมืองแม่เมาะ ได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่ฉีดพ่นน้ำก่อนการขุดขนเพื่อเพิ่มความชื้น ติดตั้งระบบสเปรย์น้ำที่เครื่องโม่และสายพานลำเลียงถ่านหิน ราดน้ำถนนทั้งในบ่อเหมืองและที่ทิ้งดิน รวมทั้งปลูกต้นไม้เป็นแนวกันฝุ่นเพื่อลดการกระจายของฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนโดยรอบจำนวน 15 สถานี เพื่อเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่น และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนว่าเหมืองแม่เมาะมีการดำเนินการควบคุมฝุ่นที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ซึ่ง สอดคล้องกับโครงการ EGAT Air time : ทุกลมหายใจ กฟผ. ใส่ใจตลอดเวลา พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของ กฟผ. การดูแลชุมชนโดยรอบให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดี นอกจากนี้ในอนาคต กฟผ. แม่เมาะ มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่แม่เมาะให้เป็น “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” หรือ Mae Moh Smart City เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะภายใต้ศาสตร์พระราชา เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นิราช/นันทพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี รายงาน