“วัชระ” เผยอาคารรัฐสภาแห่งใหม่สร้างไม่ผ่านมาตรฐาน (ตปอ.) พร้อมจ่อถามเลขาสภาฯงดค่าปรับเกือบ 1.2 พันล.ให้เอกชนที่ก่อสร้างล่าช้าจริงหรือไม่

“วัชระ” เผยอาคารรัฐสภาแห่งใหม่สร้างไม่ผ่านมาตรฐาน (ตปอ.) พร้อมจ่อถามเลขาสภาฯงดค่าปรับเกือบ 1.2 พันล.ให้เอกชนที่ก่อสร้างล่าช้าจริงหรือไม่

 

วันที่ 4 เม.ย.64 : นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตามที่นางพรพิศ  เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือถึงบริษัท ซิโน-ไทยฯ เรียกค่าปรับวันละ 12,280,000 บาทและค่าจ้างกลุ่มบริษัทผู้ควบคุมงานและบริษัทที่ปรึกษาวันละ 332,140 บาท กับบริษัท ซิโน-ไทยฯ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จากการที่ไม่สามารถก่อสร้างอาคารรัฐสภาได้แล้วเสร็จตามสัญญานั้น จนบัดนี้เวลาล่วงมาถึง 94 วัน คิดเป็นค่าปรับ 1,154,320,000 บาท และค่าจ้างบริษัทผู้ควบคุมงาน และที่ปรึกษาเป็นเงิน 31,221,160 รวมเป็นเงิน 1,185,541,160 บาท แต่ปรากฏว่ามีข้าราชการสภาฯ แจ้งข่าวว่านางพรพิศ  ได้ลงนามส่งหนังสือแจ้งงดค่าปรับส่งให้กับบริษัทเอกชนไปแล้ว แต่ตนไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ดังนั้นจึงต้องไปยื่นหนังสือสอบถามนางพรพิศฯ ว่าเป็นความจริงหรือไม่ และจะยื่นหนังสือคัดค้าน เนื่องจาก

1.สัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กำหนดไว้ 900 วัน ค่าก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท แต่ขยายระยะเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้ง รวม 1,864 วัน เป็นเวลาสองเท่าของสัญญาเดิม รวมทั้งสิ้น 2,764 วัน ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
2.ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการจ้างผู้รับเหมาช่วงอันเป็นการผิดสัญญาจ้าง
3.การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบ วัสดุอุปกรณ์หลายประการไม่ได้มาตรฐาน รายละเอียดทั้งหมดอยู่ที่อดีตสส.วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร
4.บริษัทเอกชนมาตั้งสำนักงานชั่วคราวใต้อาคารรัฐสภามีการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของทางราชการนานนับปี และมีการใช้ไฟฟ้าทำการก่อสร้างห้องต่างๆ โดยข้าราชการปล่อยปละละเลย จนมีค่าไฟฟ้าสภาสูงถึงเดือนละ 10 ล้านบาท
5.มติคณะรัฐมนตรีชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.มีมติถึง 2 ครั้ง กำหนดสร้างสภาฯ ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2562 แต่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการอนุมัติให้ขยายเวลาครั้งที่ 4 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

6.เมื่อครบกำหนดบริษัทต้องการขยายเวลาครั้งที่ 5 อีก 133 วัน แต่ถูกสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำความเห็นถึง 10 หน้า ระบุว่าเอกชนส่อว่าใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ
7.คณะกรรมการตรวจการจ้างชุดนายสาธิต  ประเสริฐศักดิ์ มีมติ 6 ต่อ 2 ไม่อนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 5
8.เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วบริษัทเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสภาฯเป็นเงิน 1,600 ล้านบาทและบริษัทแจ้งว่าอาจมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม
9.การก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา สภาฯต้องจ่ายค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าเช่าที่ประชุมรัฐสภา ค่าเช่าที่สัมมนา ค่าเช่ารถตู้รับส่งข้าราชการ ทางราชการเสียหายรวมนับพันล้านบาท
10.สมาคมผู้ตรวจสอบอาคารและบริหารความปลอดภัยอาคาร หรือ (ตปอ.) มาตรวจแล้วปรากฏว่าไม่ผ่านมาตรฐาน

นายวัชระฯ ระบุว่า เมื่อทางราชการได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล เหตุใดสภาผู้แทนราษฎรจึงเร่งรีบงดค่าปรับให้กับบริษัทเอกชน ทั้งๆที่สภาฯก็ยังสร้างไม่เสร็จ คดีฟ้องเรียกค่าโง่ 1,600 ล้านบาทก็ยังคาอยู่ที่ศาลปกครอง แล้วหัวหน้าส่วนราชการจะรีบไปงดค่าปรับทำไม และที่สำคัญคือไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย หรือจะปล่อยให้ข้าราชการทำงานกันแบบนี้หรือ จึงขอแนะนำให้ข้าราชการหรือบุคคลหรือบริษัทเอกชนเก็บสำเนาเอกสารแถบเสียงหรือเบอร์โทรศัพท์วันเวลาที่โทร.สั่งการให้กระทำการใดๆไว้เป็นหลักฐาน และทำรายงานบันทึกข้อเท็จจริงไว้ในบริษัท เพื่อยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ต้องรับผิดต่อป.ป.ช.หรือหน่วยราชการอื่นใดในอนาคต เพราะเรื่องการทุจริตรัฐสภาใหม่ต้องไปจบที่ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอย่างแน่นอนที่สุด

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน