ซินเจนทา จัด Corn Expo โชว์นวัตกรรมข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่สู้ภัยแล้ง และนวัตกรรมผลิตอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานเป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่าการส่งออกมากกว่า 7.9 พันล้านบาทต่อปี ไปยังตลาดหลักอย่างประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มสหภาพยุโรป เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดหวานรวม 7.5 ล้านไร่ เพื่อรักษาอันดับการส่งออกสินค้าเกษตรคุณภาพ และต่อสู้ปัญหาภัยแล้งที่กระทบภาคการเกษตร ซินเจนทา จึงได้จัดงานแสดงนวัตกรรมผลิตข้าวโพด หรือ Corn Expo ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการผลิตให้แก่เกษตรกรด้วยนวัตกรรม พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรสู้ภัยแล้ง และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นายพิชญา รุจิรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ซินเจนทา ซีดส์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม (Seed P&S (production and supplier) lead Thailand and Vietnam) เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวโพดนวัตกรรม NK6848 เป็นพันธุ์ใหม่ล่าสุดของซินเจนทาที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถทนกับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งอย่างประเทศไทย เมล็ดพันธุ์มีความแข็งแรงเติบโตได้ดี ปัญหาเรื่องความแห้งแล้งจะไม่กระทบต่อผลผลิต โดยการปลูกในแปลงวิจัยสามารถให้ผลผลิตสูงประมาณ 1,500-1,800 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการใช้เมล็ดพันธุ์ปกติ 3-5%
นอกจากเมล็ดพันธุ์ทนแล้งแล้ว ซินเจนทายังพัฒนาสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ฤดูกาล และพฤติกรรมการปลูกของเกษตรกรในแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อาทิ ข้าวโพดนวัตกรรม NK6253 ระบบรากลำต้นแข็งแรง ฝักยาว กาบหุ้มฝักมิดชิด ทนทานต่อโรค เก็บช้าไม่เป็นราดำ สามารถใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ข้าวโพดนวัตกรรม NK7328 ฝักใหญ่ ได้น้ำหนัก สามารถปรับตัวได้กับดินที่หลากหลาย ทั้งดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย ปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ หัวใจหลักของซินเจนทาคือให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเหลือเกษตรกร และภาคการเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนทางธุรกิจ กล่าวว่า ซินเจนทา ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอารักขาพืชและเมล็ดพันธุ์ตามแผนงาน Good Growth Plan หรือแผนการเติบโตเชิงบวก เพื่อช่วยเกษตรกรต่อสู้กับสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง และช่วยให้เกษตรกรมีวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในระบบการผลิต
การจัดงาน Corn Expo ในครั้งนี้นอกจากซินเจนทาจะมีข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่มาให้เกษตรกรสู้ภัยแล้งแล้ว ซินเจนทายังมีเทคโนโลยีเกษตรแบบแม่นยำสูง (precision agriculture technology) ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเครื่องหยอดเมล็ดแม่นยำสูงแบบลมดูด เพราะการหยอดเมล็ด เป็นจุดเริ่มต้นและหัวใจสำคัญที่มีผลต่อจำนวนต้นต่อไร่และคุณภาพของผลผลิตที่ได้ รวมถึงการใช้โดรนเพื่อความแม่นยำในการพ่นปัจจัยการผลิตให้เหมาะสมกับขนาดต้น และจุดที่ศัตรูพืชทำลาย ควบคุมการใช้น้ำ ลดการใช้แรงงานคน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพการป้องกันพืช ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ สิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อม โดยมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมงานกว่า 500 ราย ณ แปลงข้าวโพดบ้านหนองหญ้าอ่อน ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา