ติดสปีดวิศวกรไทย ! สภาวิศวกร แนะ 5 กลยุทธ์ปรับตัว รับอุตฯก่อสร้างฟื้นตัว ไตรมาส 3
เตรียมยกเว้น “การทดสอบความรู้ระดับภาคี” รองรับตลาดแรงงานในอนาคต
สภาวิศวกร (COE Thailand) แนะวิศวกรไทยเร่งปรับตัวท่ามกลางวิกฤต ด้วย 5 กลยุทธ์ รับอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้นตัว ไตรมาส 3 ได้แก่ เป็นนักสื่อสารที่ดี เป็นนักภาษาศาสตร์ เป็นนักสหวิชาชีพ เป็นผู้เรียนที่ดี เป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพฯ หลังโควิด-19 กระทบแผนการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม พร้อมเผยแผน “ยกเว้นการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกร” ยกเครื่องศักยภาพวิศวกรรุ่นใหม่รับดีมานด์ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เหตุกลไกการทดสอบความรู้เพื่อคัดกรองผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ในอดีต ไม่สอดคล้องกับความรู้-เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมในปัจจุบัน ผ่านการเน้นหนักที่คุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ บัณฑิตวิศวกร และสมาชิกสภาวิศวกร สามารถติดตามกิจกรรมส่งเสริมความรู้ และเข้าถึงทุกบริการของสภาวิศวกร แบบออนไลน์ 24 ชั่วโมงที่ www.coe.or.th
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า ท่ามกลางความอ่อนไหวของภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง อันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) ในปัจจุบัน เป็นผลให้เจ้าของโครงการ/บริษัทก่อสร้าง มีแผนปรับลดและชะลอตัวการจ้างงานยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้บัณฑิตวิศวกรรุ่นใหม่ ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 23,326 ราย จากสถานศึกษารวม 80 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), 2563) เล็งเห็นโอกาสในเส้นทางอาชีพท่ามกลางวิกฤต พร้อมไต่บันไดสู่ความสำเร็จด้วยการเป็น “วิศวกรดาวรุ่ง” ที่ฉายแววทักษะความรู้ที่มากกว่าศาสตร์วิศวกรรม แต่เป็นวิศวกรที่บูรณาการทุกศาสตร์ร่วมกับการทำงานได้อย่างมืออาชีพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานยุคดิสรัปชัน (Disruption) สภาวิศวกร จึงแนะ 5 กลยุทธ์ปรับตัวเร็ว! รับอุตสาหกรรมก่อสร้าง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายในไตรมาส 3 ดังนี้
• เป็นนักสื่อสารที่ดี การสื่อสารระหว่างบุคคล ถือเป็นทักษะสำคัญลำดับต้น ๆ เพราะนอกจากเสริมสร้างบุคลิกให้วิศวกรดูน่าเชื่อถือแล้ว ยังช่วยให้การทำงานระหว่างบุคคลเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น จากการรับสารและส่งสารต่อที่ดี เนื่องจากขอบข่ายงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ มีโอกาสได้พบปะหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบุคคลต่างสาขาอาชีพจำนวนมาก ทั้งสถาปนิก เจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี หรือกระทั่งลูกค้าผู้ว่าจ้าง
• เป็นนักภาษาศาสตร์ การมีทักษะทางภาษา ทั้งภาษาต่างประเทศหรือภาษาท้องถิ่น นับเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสในเส้นทางอาชีพ ในลักษณะการทำงานร่วมกับบริษัทต่างสัญชาติ ที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันสามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจ ลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน หรือกระทั่งมีโอกาสเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ
• เป็นนักสหวิชาชีพ เพราะการมีความรู้เชิงลึกเพียงด้านเดียวอาจจะไม่เพียงพอในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในบางครั้ง บีบบังคับให้ภาคธุรกิจปรับลดอัตราการจ้างงานวิศวกร ดังนั้น เพื่อให้วิศวกรอยู่รอดในทุกวิกฤต จึงจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญที่กว้างขึ้น ผ่านการบูรณาการศาสตร์ร่วมกับสาขาอื่น อาทิ การผสานความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ร่วมกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต
• เป็นผู้เรียนที่ดี อนาคตคือความไม่แน่นอน โลกแห่งเทคโนโลยีและงานด้านวิศวกรรมหมุนเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง การหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือเปิดโลกแห่งการเรียนรู้แขนงอื่น ๆ จะช่วยให้เราเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้ากับโลกการทำงานได้อย่างรวดยิ่งขึ้น หรือกระทั่งได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก ๆ ของการจัดจ้างงานในอนาคต
• เป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพฯ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ถือเป็นใบเบิกทางใบแรกของวิศวกรจบใหม่ ใน 7 สาขา คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี เนื่องจากสาขาดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ปลอดภัย ทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ดังนั้น การมีใบอนุญาตฯ จึงเป็นสิ่งที่การันตีมาตรฐานทางวิชาชีพ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นายจ้างหรือผู้รับเหมาที่ทำงานร่วม
อย่างไรก็ตาม สภาวิศวกร มีแผน “ยกเว้นการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกร” เพื่อยกระดับศักยภาพวิศวกรรุ่นใหม่ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เนื่องจากกลไกการทดสอบความรู้เพื่อคัดกรองผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ในอดีต ไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมในปัจจุบัน ผ่านการมุ่งเน้นที่คุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน อาทิ กำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่อง ดึงมือภาคอุตสาหกรรมร่วมวางแผนหลักสูตร ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาด้านวิศวกรรม ด้วยการปรับเกณฑ์สำหรับหลักสูตร ในการขอรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ (Thailand Accreditation Body for Engineering Education: TABEE) ภายใต้ข้อตกลง Washington Accord ที่เน้นผลลัพธ์การศึกษา ที่กำหนดให้สถาบันการศึกษาทำการประเมินผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบัณฑิตวิศวกรให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ทั้งนี้ “บัณฑิตวิศวกร” รวมถึง “สมาชิกสภาวิศวกร” สามารถติดตามกิจกรรมส่งเสริมความรู้ เข้าถึงบริการต่าง ๆ ของสภาวิศวกร ในรูปแบบออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ 24 ชั่วโมง ผ่านเว็บไซต์ www.coe.or.th ได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การสมัครสมาชิกสภาวิศวกร เช็คสถานะสมาชิกและใบอนุญาตฯ ยื่นเอกสารเพื่อขอใบอนุญาตฯ เช็คสถานะใบรับเรื่องหรือการยืนยันเรื่อง ตรวจสอบผลการทดสอบ-การสอบ-การอบรม-ผลสอบสัมภาษณ์ หรือกระทั่งเลื่อนรอบอบรมทดสอบความพร้อม ต่ออายุสมาชิก/ใบอนุญาต ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/coethailand เว็บไซต์ www.coe.or.th ยูทูบ แชลแนล “COE Channel” ไลน์ไอดี @coethailand หรือติดต่อ สายด่วนสภาวิศวกร 1303